วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ชาวอีสานมาจากไหน?



"เฮ็ดไฮ่" ใช้ไม่ไผ่ปลายแหลมแทงดินเป็นรู แล้วหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกลงรูดินที่แทงไว้ ลายเส้นนี้ ชาวยุโรปที่เขียนรูปคนพื้นเมืองแถบสองฝั่งโขง ภาพนี้เขียนโดย M. Mouhot พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2507) (ภาพจาก Travels in Siam, Cambodia and Laos 1858-1860. Henri Mouhot. Oxford University Press, 1989.)



ชาวนาไถนาลุ่มทางภาคกลาง สมัยรัชกาลที่ 5
(ภาพเก่าจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ชาวอีสานมาจากไหน?

ชาวอีสานหรือคนอีสาน ไม่ใช่ชื่อชนชาติหรือเชื้อชาติเฉพาะของอีสาน แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม มีที่มาจากภูมิศาสตร์บริเวณที่เรียกอีสาน หรือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (อันเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินใหญ่ สุวรรณภูมิหรืออุษาคเนย์โบราณ) เลยสมมุติเรียกคนกลุ่มนี้อย่างรวมๆ กว้างๆ ว่าชาวอีสาน หรือคนอีสาน

ชาวอีสานหรือคนอีสาน มีบรรพชนมาจากการประสมประสาน ของผู้คนชนเผ่าเหล่ากอ หลายชาติพันธุ์ ทั้งภายในและภายนอก ทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว (อาจถึง 10,000 ปีมาแล้วก็ได้) แล้วยังมีต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ และอาจมีต่อไปในอนาคตอีกไม่รู้จบ

ผู้คนชนเผ่าเหล่ากอหลายชาติพันธุ์ ที่ประสมประสานกันเป็นชาวอีสาน มีบรรพชนอย่างน้อย 2 พวก คือ คนพื้นเมืองดั้งเดิมอยู่ภายในสุวรรณภูมิ กับคนภายนอกเคลื่อนย้ายเข้ามาภายหลังจากทิศทางต่างๆ มีร่องรอย และหลักฐานสรุปย่อๆ ได้ต่อไปนี้

1. คนพื้นเมืองดั้งเดิม 5,000 ปีมาแล้ว

ชาวอีสานดั้่งเดิม มีชีวิตร่อนเร่อยู่ในดินแดนอีสานนานมากกว่า 5,000 ปีมาแล้ว เพราะหลังจากนั้นมีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่าคนพวกนี้ปลูกเรือนอยุ่เป็นที่ (ปัจจุบันคือบริเวณอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น) รุ้จักปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เช่นหมูและวัว รู้จักทำภาชนะดินเผา ทำสัมฤทธิ์ เป็นเครื่องมือเครื่าองใช้ และมีประเพณีฝังศพ ฯลฯ (สุรพล นาถะพินธุ อ้างถึงผลการขุดค้นทางโบราณคดี ของศาสตราจารย์ วิลเฮล์ม จี. โซลไฮม์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยฮาไว สหรัฐ; บ้านเชียง, กรมศิลปากร จัดพิมพ์เนื่องในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จังหวัดอุดระานี, 21 พฤศจิกายน 2530.)

ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า คนอีสานพวกแรกเหล่านี้เป็นชนกลุ่มไหน? เผ่าพันธ์ใด? แต่อย่างน้อยเป็นคน 2 พวก คือ พวกที่สูงกับพวกที่ราบดังนี้ :

ก. พวกที่สูง
พวกนี้อาศัยอยู่บริเวณป่าเขาลำเนสไพร มีแหล่งเพาะปลูกน้อย มีแหล่งน้ำหล่อเลี้ยง ไม่เพียงพอ เพาะปลูกด้วยระบบที่เรียกว่า เฮ็ดไฮ่ (ทำไร่) หรือแบบล้าหลัง คือเอาไฟเผาป่าให้ราบลง เป็นแปลงเท่าที่ต้องการ ไม่ต้องพรวน ไม่ต้องไถ อย่างดีก็เอาจอบช่วยเกลี่ยหน้าดินนิดหน่้อย แล้วก็เอาไม้ปลายแหลม แทงดินให้เป็นรู เอาเมล็ดพันธุ์พืชหยอดลงทีละรูๆ แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรม แล้วแต่ดิน ฝนและแดด แต่พันธุ์พืชหรือพันธุ์ข้าว ชนิดที่ปลูกก็เป็นพันธุ์ป่าชนิดที่ ไม่ต้องขวนขวายทดน้ำมาหล่อเลี้ยง พอพืชโตได้ที่มีดอกออกผลก็เก็บเกี่ยว แล้วก็ทิ้งดินแปลงนั้นให้หญ้า และต้นไม้ขึ้นรกชัฏไปตามเรื่อง ใช้ได้ครั้งเดียว ปีรุ่งขึ้นก็ขยับไปเผาป่าในที่ถัดออกไปใหม่ ขยับเวียนไปรอบทิศตามสะดวก ไม่มีใครหวงห้ามหรือจับจอง บางที 2-3 ปี ผ่านไปก็หันกลับมาเผาที่ตรงแปลงเดิมใหม่ แต่ถ้าหากดินจืด ใช้ไม่ได้ผล ก็ย้ายหมู่บ้านกันเสียที ไปเลือกทำเลใหม่ หอบไปแต่สิ่งของสำคัญๆ ไม่มีสมบัติ (จิตร ภูมิศักดิ์, ความเป็นมาของคำสยาม, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519, หน้า 238.)

ข. พวกที่ราบ
พวกนี้อาศัยบริเวณที่ราบลุ่มในหุบเขา ที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบตามชายฝั่งทะเล ซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก กว้างขวางกว่าเขตที่สูงมีน้ำท่วมถึง หรือมีการชักน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ที่เพาะปลูกได้ ทำให้มีโคลนตะกอนจากที่อื่นๆ เข้ามาทับถมกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ที่ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์เสมอๆ ทุกๆปี จนไม่ต้องโยกย้ายไปหาที่เพาะปลูกใหม่ และสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย พอเลี้ยงคนได้จำนวนมาก ทั้งมีส่วนเกินพอที่จะนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชุมชนอื่นๆ ด้วย ทำให้ท้องถิ่นนั้นๆ มีผู้คนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

ในที่สุดก็แบ่งงานกันทำกิจกรรมเฉพาะ รวมทั้งมีโอกาส ร่วมมือในกิจการงานด้านต่างๆ เช่น ทดน้ำหรือระบายน้ำเพื่อการเพราะปลูก ติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชุมชนอื่น และขยายชุมชนไปยังบริเวณใกล้เคียง

ฉะนั้นเขตนี้มักมีพัฒนาการจาก หมู่บ้าน เป็น เมือง แล้วก้าวหน้าเป็น รัฐ และ อาณาจักร ได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าทุกหนทุกแห่งในเขตที่ราบ จะมีโอกาสก้าวหน้าได้เหมือนกันหมด เพราะยังมีข้อแตกต่างกันด้านอื่นๆ ที่อาจจะเป็นทั้งสิ่งเอื้ออำนวย และข้อจำกัดอีก

ค. พวกที่สูง-ที่ราบ ผสมกลมกลืนกันเป็น "ชาวสยาม"
พวกที่สูง มีความรู้ และชำนาญในการถลุงโลหะ ส่วนพวกที่ราบมีความรู้ และชำนวญการทำนาปลูกข้าวในที่ลุ่ม ทั้งสองพวกนี้ มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันตลอดเวลา จนถึงระยะเวลาหนึ่งพวกที่สูงก็ลงมาอยู่ที่ราบ แล้วผสมกลมกลืนทางสังคม และวัฒนธรรม มีร่องรอยอยุ่ในนิทานปรัมปราหลายเรื่อง

แต่นิทานเรื่องใหญ่ และสำคัญที่สะท้อนความสัมพันธ์ของชนกลุ่มต่างๆ ทั้งพวกที่สูงและพวกที่ราบทั่วสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะบริเวณ 2 ฝั่งโขง ทางล้านนากับล้านช้าง คือเรื่องท้าวฮุ่ง หรือ ขุนเจือง อาจมีบรรพบุรุษเป็นพวกที่สูง แต่เป็นวีรบุรุษข้ามพรมแดนทางเผ่าพันธุ์ เพราะแต่งงานกับพวกที่ราบด้วย แล้วกลายเป็นวีรบุรุษในอุดมคติของกลุ่มชน ทั้งพวกที่สูง และ พวกที่ราบ (สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ, ท้าวฮุ่งขุนเจือง มหากาพย์ของอุษาคเนย์, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, สำนักพิมพ์มติชน, 2538.)

คนที่สูงกับที่ราบ ผสมกลมกลืนกันทางเผ่าพันธุ์ สังคมวัฒนธรรม เมื่อนานเข้าก็เป็นพวกเดียวกัน ตั้งหลักแหล่งอยู่ร่วมกันในดินแดน ที่คนภายนอกเรียกสยาม คนพวกนี้เลยถูกเรียกอย่างรวมๆ เป็นชาวสยามด้วย

2. คนภายนอก 3,000 ปีมาแล้ว

คนภายนอก ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งแห่งหน จนเป็นบรรพบุรุษมนุษย์สุวรรณภูมิ และบรรพชนคนอีสาน มาจากทุกทิศทางทั้งใกล้ - ไกลและทางบก - ทางทะเล

ก. ราว 3,000 ปีมาแล้ว มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
คนพวกนี้มาจากทางตอนใต้ของจีนปัจจุบัน (แต่ครั้งนั้น 3,000 ปีมาแล้ว ยังไม่เป็นดินแดนของจีน) เช่น ยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง เวียดนาม ฯลฯ รวมทั้งลาว

สิ่งสำคัญที่คนภายนอกพวกนี้นำเข้ามาด้วยคือ ภาษา ที่ปัจจุบันเรียกตระกูลไทย-ลาว มีหลักฐานแน่นหนาว่า เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว คนพื้นเมืองในกวางสี-กวางตุ้ง พูดภาษาตระกูลไทย-ลาวแล้ว และต่อมายอมรับเป็น ภาษาการค้า หรือภาษากลาง ในการติดต่อสื่อสารระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ

นอกจากนั้นยังมีสิ่งอื่นอีก เช่น ระบบความเชื่อ เรียก ศาสนาผี เช่น แถน ฯลฯ ประเพณีพิธีกรรมโดยเฉพาะ ประเพณีฝังศพครั้งที่ 2 และเทคโนโลยีสัมฤิทธิ์ เช่น มโหระทึก (หรือฆ้องบั้ง กลองทอง กลองกบ ฯลฯ)

คนพวกนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่สองฝั่งโขงทั้งลาวและอีสาน แต่เคลื่อนย้ายไปมาแล้วแต่หลักแหล่ง กว้างไกลไปถึงลุ่มน้ำสาละวิน (เช่น ไทยใหญ่ ฯลฯ) ลุ่มน้ำน่าน-ยม (เช่น อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ฯลฯ) บางพวกยังลงไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทางลพบุรี และสุพรรณบุรีด้วย

ข. ราว 2,000 ปีมาแล้ว มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราวหลัง พ.ศ. 500 มีคนจากทิศตะวันตกเฉียงใต้กลุ่มหนึ่ง จากชมพูทวีปและลังกาทวีป เดินทางทะเลอันดามันเข้ามาแลกเปลี่ยน ค้าขายกับคนพื้นเมืองสุวรรณภูมิ เพื่อส่งต่อถึงจีนฮั่น คนตะวันตกเฉียงใต้พวกนี้ มีทั้งพ่อค้า และนักบวช เป็นเหตุให้มีการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์ - พุทธ ผ่านชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา และปากแม่น้ำโขง ขึ้นมาถึงบริเวณ 2 ฝั่งโขง ทำให้มีคนตะวันตกเฉียงใต้บางพวก เข้ามาตั้งหลักแหล่งทางอีสานด้วย

นอกจากนั้นยังมีคนพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา อ่าวไทย (ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน) และจากปากแม่น้ำโขง (บริเวณกัมพูชา กับเวียดนามทุกวันนี้) ที่นับถือพราหมณ์ - พุทธมหายาน คนพวกนี้อาจเรียกรวมๆ อย่างยกย่องว่า ขอม เพราะมีความรู้ทางศาสนา อักษรศาสตร์ และเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น แกะสลักหิน สร้างปราสาทหิน ฯลฯ บางที่ยกย่องเป็นครู แล้วเรียกครูขอมก็มี หลักฐานมีทั่วไปในสมัยหลังๆ เช่น ปราสาทพิมาย ฝ่ายพุทธมหายาน (นครราชสีมา) ปราสาทพนมรุ้ง ฝ่ายพราหมณ์ (บุรีรัมย์) เป็นต้น

ที่มา : Amata Foundation Newsletter Vol.4 ฉบับพิเศษ มิถุนายน - กรกฎาคม 2549

ไม่มีความคิดเห็น: