วันศุกร์ที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

การตั้งถิ่นฐานของชาวผู้ไท

การตั้งถิ่นฐานของชาวผู้ไท Print E-mail
15 พ.ย. 2006 18:40น.
การตั้งถิ่นฐานและประวัติศาสตร์การเข้ามาของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท
การอพยพเข้ามาในประเทศไทยมีหลายครั้งและตั้งถิ่นฐานทั้งในจังหวัดทางภาคอีสานและภาคกลาง ได้มีการแบ่งชาวผู้ไทออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะการแต่งกายและบริเวณที่ตั้งถิ่นฐาน ได้แก่ “กลุ่มผู้ไทขาว” กลุ่มผู้ไทดำและผู้ไทแดง กลุ่มผู้ไทขาวตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของเวียดนามต่อพรมแดนของประเทศจีน ได้แก่ เมืองไล เมืองบาง เมืองมุน เมืองเจียน มีการใช้ธรรมเนียมต่างๆ อย่างชาวจีนโดยเฉพาะการแต่งกายในพิธีศพนิยมนุ่งขาวห่มขาว ส่วนผู้ไทในภาคอีสานจัดเป็น “ผู้ไทดำ” อยู่บริเวณเมืองแถง เมืองควาย เมืองคุง เมืองม่วย เมืองลา เมืองโมะ เมืองหวัด เมืองชา มีผิวพรรณคล้ายผู้ไทขาวแต่คล้ำกว่าเล็กน้อย นิยมแต่งกายด้วยผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม และอาศัยแม่น้ำดำเป็นแหล่งทำมาหากิน สังเกตได้จากลักษณะธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติเป็นเกณฑ์หลัก เช่น การแต่งกาย พิธีศพ ทั้งสองกลุ่มใช้ภาษาพูดแบบเดียวกัน (นพดล ตั้งสกุล, 2548: 12 ; สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ณรงค์ อุปัญญ์, 2538:18)
การอพยพของชาวผู้ไทยเป็นจำนวนมากจากเมืองนาน้อยอ้อยหนู (ห่างจากเมืองแถงหรือเดียนเบียนฟูไปทางตะวันออกประมาณ 40 ก.ม.) พระโพธิวงศาจารย์ (ติสโส อ้วน) กล่าวไว้ในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย สาเหตุของการอพยพเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก “บังเกิดการอัตคัดอดอย่าง” สอง เกิดจากความขัดแย้งระหว่างท้าวก่าหัวหน้าของชาวผู้ไทกับเจ้าเมืองนาน้อยอ้อยหนู (ต้นฉบับเรียกเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู) ท้าวก่าจึงพาชาวผู้ไทชายหญิงประมาณหมื่นคนมาขอขึ้นกับเจ้าอนุรุทกุมาร เจ้าเมืองเวียงจันทน์ เจ้าอนุรุทกุมารจึงให้ชาวผู้ไทไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองวัง ซึ่งเป็นป่าเขา ไม่ค่อยมีที่ราบ เป็นที่อยู่ของพวกข่า ไม่มีใครปกครอง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะถิ่นที่อยู่และที่ทำกินเดิมของชาวผู้ไท (สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ณรงค์ อุปัญญ์, 2538:20-21)
การอพยพครั้งใหญ่ของชาวผู้ไทยเข้าสู่ประเทศไทยมี 3 ระลอกด้วยกัน คือ
ระลอกที่ 1 สมัยธนบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2321 ถึง 2322 กองทัพไทยนำโดยเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) นำทหารสองหมื่นคนเข้าไปตีหัวเมืองลาวตั้งแต่จำปาศักดิ์ถึงเวียงจันทน์ ขณะที่กองทัพไทยล้อมเวียงจันทน์อยู่นั้น หลวงพระบางซึ่งไม่ถูกกับเวียงจันทน์ได้ส่งกองทัพมาช่วยไทยตีเวียงจันทน์ ล้อมอยู่ 4 เดือนเศษก็สามารถตีได้ กองทัพไทยถือโอกาสผนวกลาวทั้งหมด รวมทั้งหลวงพระบางซึ่งมาช่วยไทยตีเวียงจันทน์เอาเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชแต่นั้นมา หลังจากเวียงจันทน์แตกใน พ.ศ. 2322 ฝ่ายไทยได้ให้กองทัพหลวงพระบางไปตีหัวเมืองทางตะวันออกของหลวงพระบาง มีเมืองทันต์ เมืองม่วย สองเมืองนี้เป็นลาวทรงดำหรือผู้ไทดำ ซึ่งอยู่ริมเขตแดนญวน ได้ครอบครัวลาวทรงดำเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีรับสั่งให้ลาวทรงดำเหล่านี้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เพชรบุรี ในช่วงของการกวาดต้อนลาวทรงดำเมืองทันต์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือ) และเมืองม่วย (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศลาว) ผู้ไทขาวส่วนใหญ่ยังอยู่ที่เมืองแถง ไม่ได้ถูกกวาดต้อนมาด้วย ผู้ไทดำสองเมืองนี้นับเป็นผู้ไทระลอกแรกที่ถูกอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย
ระลอกที่ 2 เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ราวพ.ศ. 2335-2338 เมืองแถงและเมืองพวนแข็งข้อต่อเวียงจันทน์ กองทัพเวียงจันทน์ตีเมืองทั้งสองได้ กวาดต้อนลาวทรงดำหรือผู้ไทยดำ ลาวพวน เป็นเชลยส่งมาที่กรุงเทพ รัชกาลที่ 1 ทรงมีรับสั่งให้ผู้ไทดำไปอยู่ที่เพชรบุรีเหมือนผู้ไทดำระลอกแรก
ระลอกที่ 3 เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นการอพยพเข้ามาครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งมีทั้งชาวผู้ไทและกลุ่มอื่นๆ บริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาไว้ในภาคอีสาน และบางส่วนส่งมาอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย สาเหตุการอพยพเกิดจากรัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับรัฐบาลญวน เนื่องจากญวนพยายามขยายอำนาจเข้ามาในเขมรและลาว ซึ่งเป็นประเทศราชของไทย ความขัดแย้งครั้งนั้นนำไปสู่สงครามอันยาวนานระหว่างไทยกับญวน โดยรบกันตั้งแต่ พ.ศ. 2376 และไปสิ้นสุดใน พ.ศ. 2390 พื้นที่การรบส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเขมร การรบครั้งนั้นส่งผลต่อราษฎรในฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือ มีการกวาดต้อนเอาราษฎรไปอยู่แต่ละฝ่ายเป็นจำนวนมาก

สำหรับชาวผู้ไทที่ถูกกวาดต้อนในระลอกที่ 3 นี้ มีกลุ่มคนดังนี้
กลุ่มที่ 1 เป็นผู้ไทยเมืองวัง ถูกกวาดต้อนให้มาตั้งถิ่นฐานที่ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ประมาณ 300 หลังคาเรือน มีประชากรรวมกัน1,200 คน ตั้งถิ่นฐานที่บ้านโพน บ้านหนองยางเหนือ บ้านหนองยางใต้ ต.โพน ต.ทุ่งครอง 4 หมู่บ้าน (บ้านทุ่งครอง บ้านเก่าเดื่อ บ้านคำม่วง บ้านหนองสะพัง) ต.สำราญ 5 หมู่บ้าน (บ้านค้อ บ้านหนองช้าง บ้านจาน บ้านหนองแซง บ้านท่า) ปัจจุบันบ้านเหล่านี้ขึ้นกับ อ.คำม่วง และที่ขึ้นกับอ.สหัสขันธ์มีเพียง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านตงไร่ บ้านคอนผึ้ง ต.โนนศิลา
กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ไทเมืองวังเช่นเดียวกัน ถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐานที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กลุ่มนี้ใหญ่มากมีประชากรรวมกันถึง 14,521 คน ให้ตั้งถิ่นฐานที่ ต.บัวขาว 5 หมู่บ้าน ต.แจนแลน 4 หมู่บ้าน ต.แล่นช้าง 5 หมู่บ้าน ต.สงเปือง 6 หมู่บ้าน ต.คุ้มเก่า 11 หมู่บ้าน
กลุ่มที่ 3 มาจากเมืองวังเช่นเดียวกัน ถูกกวาดต้อนให้มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพรรณนานิคม ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าบ้านพังพร้าว จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2513 พบว่าใน อ.พรรณานิคมตอนนั้นมี 7 ตำบล มีชาวผู้ไททั้ง 7 ตำบล มีผู้ไท 11 หมู่บ้าน ต.สว่าง 17 หมู่บ้าน ต.นาใน 10 หมู่บ้าน ต.หัวบ่อ 10 หมู่บ้าน ต.ไร่ 9 หมู่บ้าน ต.พอกน้อย 7 หมู่บ้าน และ ต.วังยาง 1 หมู่บ้าน รวม 65 หมู่บ้าน เป็นจำนวนคน 32,037 คน นอกจากนี้ยังอพยพไปตั้งรกรากที่ อ.เมืองสกลนคร 13 ตำบล 48 หมู่บ้าน อ.พังโคน 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน อ.บ้านม่วง 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน อ.วานรนิวาส 4 ตำบล 8 หมู่บ้าน อ.กุสุมาลย์ 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน อ.สว่างแดนดิน 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน อ.กุดบาก 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน อ.วาริชภูมิ 4 ตำบล 42 หมู่บ้าน รวมทั้งจังหวัดสกลนครมีผู้ไทย 212 หมู่บ้าน 20,945 หลังคาเรือน 128,659 คน
กลุ่มที่ 4 มาจากเมืองวังและเมืองคำอ้อ ตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองสูงและบ้านคำชะอี ปัจจุบันขึ้นอยู่กับ จ.มุกดาหาร ทั้ง 4 กลุ่มนี้ถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. 2384-2387 (รัชกาลที่ 3)
กลุ่มที่ 5 มาจากเมืองวัง แต่มาก่อน 4 กลุ่มที่กล่าวมาแล้ว คือ อพยพมาตั้งแต่ พ.ศ.2373 มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยหัวขัว บ้านบ่อจันทร์ และบ้านดงหวาย ทางการได้ยกบ้านดงหวายเป็นเมืองเรณูนคร ในครานั้นมีประชากร 2,648 คน การสำรวจในปี พ.ศ. 2513 มีชาวผู้ไทอยู่ใน จ.นครพนม 131 หมู่บ้าน 5 อำเภอ คือ อ.นาแก 78 หมู่บ้าน อ.เรณูนคร 28 หมู่บ้าน อ.ธาตุพนม 14 หมู่บ้าน อ.ศรีสงคราม 7 หมู่บ้าน อ.เมือง 4 หมู่บ้าน เฉพาะ อ.เรณูนครมีผู้ไท 19,070 คน
กลุ่มที่ 6 เป็นชาวผู้ไทจากเมืองตะโปน (เซโปน) 1,847 ครอบครัว มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านช่องนาง ทางการไทยได้ยกช่องนางเป็นเมืองเสนางคนิคม ปัจจุบันขึ้นกับ จ.อำนาจเจริญ ในปี พ.ศ. 2525 มีชาวผู้ไทอยู่ 5 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอ คือ อ.เสนางคนิยมและ อ.ชานุมาน
กลุ่มที่ 7 เป็นชาวผู้ไทจากเมืองตะโปน ตั้งถิ่นฐานที่บ้านคำเมืองแก้ว ทางการยกเป็นเมืองคำเขื่อนแก้วในปี 2388
กลุ่มที่ 8 เป็นชาวผู้ไทจากเมืองกะปอง ตั้งถิ่นฐานที่บ้านปลาเป้า ยกเป็นเมืองในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2410 เป็นเมืองวาริชภูมิ ผู้ไทในอำเภอวาริชภูมิมี 4 ตำบล คือ ต.วาริชภูมิ 1 หมู่บ้าน ต.คำบ่อ 12 หมู่บ้าน ต.ปลาโหล 9 หมู่บ้าน และต.เมืองลาด 7 หมู่บ้าน รวม 42 หมู่บ้าน
ชาวผู้ไททั้ง 8 กลุ่มได้ขยายจำนวนออกไปตั้งรกรากในพื้นที่ต่างๆ ของภาคอีสานอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา รวม 9 จังหวัด 33 อำเภอ 494 หมู่บ้าน สรุปได้ดังนี้
1. จ.กาฬสินธุ์ 63 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (เขาวง กุฉินารายณ์ คำม่วง สมเด็จ สหัสขันธ์)
2. จ.นครพนม 131 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (นาแก เรณูนคร ธาตุพนม ศรีสงคราม เมืองนครพนม)
3. จ.มุกดาหาร 68 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (คำชะอี เมืองมุกดาหาร นิคมคำสร้อย ดอนตาล หนองสูง)
4. จ.สกลนคร 212 หมู่บ้าน 9 อำเภอ (พรรณนานิคม เมืองสกลนคร วาริชภูมิ พังโคน บ้านม่วง วานรนิวาส กุสุมาลย์ สว่างแดนดิน กุดบาก)
5. จ.อำนาจเจริญ 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ (เสนางคนิคม ชานุมาน)
6. จ.ยโสธร 3 หมู่บ้าน 1 อำเภอ (เลิงนกทา)
7. จ.อุดรธานี 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ (วังสามหมอ ศรีธาตุ)
8. จ.หนองคาย 6 หมู่บ้าน 3 อำเภอ (โซ่พิสัย บึงกาฬ พรเจริญ)
9. จ.ร้อยเอ็ด 1 หมู่บ้าน (โพนทอง)
(สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ณรงค์ อุปัญญ์, 2538:21-29)

ได้จาก
http://www.mapculture.org/mambo/index.php?option=com_content&task=view&id=587&Itemid=56

ไม่มีความคิดเห็น: