วันจันทร์ที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ตัวอักษรไทย

ตัวอักษรไทย

จากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พบว่า มีข้อความที่กล่าวถึงเรื่องของตัวหนังสือไทย เอาไว้ตอนหนึ่งว่า "เมื่อก่อนนี้ลายสือไทนี้บ่ 1205 ศกปีมะเมีย พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจ ในใจและใส่ลายสือไทนี้ ลายสือไทนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้"
ได้มีผู้สันนิษฐาน เรื่องตัวหนังสือไทยไว้หลายแง่มุม เช่น จารึกอักษรที่ภาพชาดกที่ผนังอุโมงวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย น่าจะเป็นตัวหนังสือที่มีมาก่อนตัวหนังสือจากศิลาจารึกของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปรับปรุงตัวหนังสือเก่าที่เคยมีมาแล้ว จัดวางสระเสียใหม่ คำว่าใส่อาจหมายถึง การกระทำเช่นนี้ แต่ก็สรุปได้ว่า แต่ก่อนไม่มีตัวหนังสือไทยแบบนี้ และเท่าที่ทราบยังไม่เคยมีผู้ทราบว่า มีตัวหนังสือไทยแบบอื่นใช้มาก่อนสมัยกรุงสุโขทัย
ไทยเราเป็นชาติที่เจริญเก่าแก่มาแต่โบราณกาล ได้มีการศึกษาค้นคว้ามาว่า ชาติไทยนั้น เคยมีภูมิลำเนาอยู่ในดินแดน ที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนในปัจจุบัน และเมื่อกาลเวลาผ่านไป มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง ตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ภาษาพูด คนไทยเราเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่เรายังคงไว้ ไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายง่ายเหมือนเรื่องอื่น แม้ในปัจจุบัน คนที่พูดภาษา ซึ่งพอจะย้อนไปได้ว่า ต้นตอเป็นภาษาไทย มีอาศัยอยู่ทั่วไป ในดินแดนที่กว้างใหญ่ของจีน ในมณฑลอัสสัมของอินเดีย ในรัฐฉานตอนเหนือของพม่า ในลาวทั้งหมด ในเวียดนามตอนเหนือ เรายังพอพูดพอฟังเข้าใจกันได้ ในเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน คำหลัก ๆ การสร้างรูปประโยค และไวยากรณ์ ยังคงอยู่
ภาษาจีนและภาษาไทย จัดเป็นภาษาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เป็นภาษาที่กำหนดเอาเสียงหนึ่ง แทนความหมายหนึ่ง จึงมีคำที่มีเสียงโดดเสียงเดียวอยู่เป็นอันมาก ทำให้ต้องมีคำอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องอาศัยการทำเสียงสูง เสียงต่ำ ให้มีความหมายแตกต่างกัน เพื่อให้มีเสียงพอกับคำที่คิดขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องมีคำผสมของเสียงหลายพยางค์ เพิ่มเติมขึ้นอีก ความแตกต่างจากภาษาอื่นประการหนึ่งคือ เรามีเสียงวรรณยุกต์ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์วรรณยุกต์ขึ้น 2 เสียง คือ เสียงเอก และเสียงโท ซึ่งเมื่อใช้ควบกับอักษรเสียงสูงและเสียงต่ำ หรือใช้อักษร "ห" นำอักษรเสียงต่ำ ที่ไม่มีคู่อักษรเสียงสูงแล้ว ก็สามารถผันเสียงได้ถึง 5 เสียง คือ เสียง สามัญ เอก โท ตรี และจัตวา
ภาษาจีนก็มีเสียงที่เป็นวรรณยุกต์เหมือนกัน แต่ไม่มีเครื่องหมายเขียนในตัวหนังสือ เสียงวรรณยุกต์ของจีนนี้ บ้างก็ว่ามี 4 เสียง และสูงสุดถึง 8 เสียง ซึ่งเมื่อเทียบกับวรรณยุกต์ไทย ก็คงจะเป็นเสียง ที่เกิดจากวรรณยุกต์ ผสมกับสระเสียงสั้นเสียงยาว ซึ่งทางไทยเราแยกเสียงออกไปในรูปสระ ภาษาจีนและภาษาไทย มีรูปประโยคที่เกิดจากการเอาคำมาเรียงกันเป็นประโยค ข้อแตกต่างของไวยากรณ์ไทย ที่ไม่เหมือนของจีน ที่สำคัญคือ คำคุณศัพท์ขยายนาม ภาษาไทยเราเอาไว้หลังนาม แต่จีนเอาไว้หน้านาม เช่นเดียวกับภาษาอื่น ๆ คำวิเศษณ์ที่ประกอบกริยา ภาษาไทยเอาไว้ตามหลังกริยา แต่ภาษาจีนมักไว้หน้ากริยา คำวิเศษณ์ที่ประกอบคุณศัพท์ ภาษาไทยเอาไว้หลังคุณศัพท์ แต่ภาษาจีนเอาไว้หน้าคุณศัพท์ และลักษณะนาม ภาษาไทยจะไว้หลังนาม แต่ภาษาจีนเอาไว้หน้านาม

ตัวหนังสือต่างๆนอกราชอาณาจักรไทย

ในพุทธศตวรรษที่ 18 ไทยเข้ามามีอำนาจ ครอบครองดินแดนทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพม่า เมื่อได้ตั้งมั่นอยู่ในดินแดนลุ่มแม่น้ำอริวดีแล้ว ก็ได้แผ่อิทธิพล เข้าครอบครองดินแดนทางตอนเหนือของสุวรรณภูมิ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 และได้พยายามแผ่อิทธิพล เข้ามาในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ถูกไทยยับยั้งไว้ แต่อิทธิพลของพม่า ได้ครอบคลุมไปถึงล้านนาไทยและไทยใหญ่ ทำให้ชาวไทยหลายเผ่า ได้รับเอาตัวหนังสือของพม่า ไปดัดแปลงใช้ จะเห็นว่าตัวหนังสือของไทยใหญ่ และกลุ่มคนไทยทางภาคเหนือหลายเผ่า มีลักษณะคล้ายตัวหนังสือมอญ และพม่า

ตัวอักษรพม่า

ชาวไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทยหลายเผ่า ต่างได้ดัดแปลงสร้างตัวหนังสือไทยขึ้น ใช้เขียนภาษาของตน ซึ่งภาษาไทยเท่านั้น เป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงให้รู้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นคน ที่มีเชื้อสายไทยด้วยกัน ถ้าจะแบ่งเผ่าไทย ที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย อาจจะแบ่งได้เป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้ 4 กลุ่มด้วยกันคือ
1.
กลุ่มไทยน้อย ที่อยู่ในล้านนาไทย สิบสองปันนา ซึ่งอยู่ทางเหนือของไทย ได้แก่ ไทยลื้อ ไทยเขิน ไทยยอง เป็นต้น
2.
กลุ่มไทย ที่อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินโดจีน บริเวณอ่าวตังเกี๋ย พวกที่อยู่ในล้านช้าง หัวพันทั้งห้าทั้งหก ได้แก่ ลาว ไทยดำ ไทยขาว และอื่น ๆ
3.
กลุ่มไทยใหญ่ ที่อยู่ในแคว้นฉาน ทางภาคเหนือของพม่า มีเมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงตุง เป็นต้น และพวกที่อพยพ เข้าไปในแคว้นอัสสัมของอินเดีย ได้แก่ ไทยอาหม ไทยขำตี่ และพวกอื่น ๆ
4.
กลุ่มไทย ที่ยังคงอยู่ในดินแดนตอนใต้ และตะวันตกของจีน ได้แก่ พวกไทยโท้ ไทยนุง ไทยทุงเจีย และอื่น ๆ

ตัวหนังสือพวกกลุ่มไทยน้อย

พวกล้านนาไทย และสิบสองปันนา อยู่ใต้อิทธิพลของพม่า รูปแบบตัวหนังสือของพวกไทยกลุ่มนี้ จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรมอญ การเรียงคำควบกล้ำ ก็ใช้ตัวพยัญชนะเรียงซ้อนกันทางด้านตั้ง คือตัวหนึ่งอยู่บนอีกตัวหนึ่ง ลักษณะแบบเดียวกับอักษรมอญ และอักษรขอม แต่ก็ได้รับอิทธิพล ของตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไปด้วย จึงมีรูปตัวหนังสือบางตัว มีรูปแบบผสมผสาน ระหว่างอักษรมอญ กับอักษรไทยสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวอักษรไทยลื้อและไทยลานนา ได้รับเอาวรรณยุกต์ เอก โท ของไทยไปด้วย

ตัวหนังสือไทยน้อยในแคว้นสิบสองปันนาหรือตัวหนังสือไทยลื้อ

พวกไทยน้อย อยู่ในดินแดนทางเหนือ ห่างไกลจากกัมพูชา ไม่ได้ถูกอิทธิพลของขอมครอบงำ ภาษาจึงไม่มีคำเขมรแทรกเข้ามาแม้แต่คำเดียว และตัวหนังสือที่ใช้ ก็เป็นเชื้อตัวหนังสือไทยเดิม ตัวหนังสือได้แบบมาจากมอญโบราณ ซึ่งมักเขียนเป็นตัวกลม โดยมิได้แปลงผ่านมาจากอักษรพม่า ตัวหนังสือไทยน้อยนี้ ได้เป็นต้นแบบของหนังสือธรรม ในภาคพายัพและภาคอิสานของไทย อักษรและสระของไทยลื้อ มีดังนี้
พยัญชนะมีพยัญชนะ 27 ตัว คือ ก ฟ ม
สระ มีอยู่ 16 รูป ด้วยกันคือ ๆ เ เ ือ เ า


ตัวหนังสือไทยล้านนา

กลุ่มคนไทยในดินแดนล้านนาไทย ได้แก่ เมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลพูน และบริเวณทางเหนือขึ้นไป เป็นกลุ่มคนไทยที่ตั้งเป็นบ้านเมือง มีพระมหากษัตริย์ปกครองเป็นปึกแผ่นอยู่แล้ว ก่อนที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และสร้างราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ไทยล้านนา จึงมีประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของตนเองโดยเฉพาะ มีศิลาจารึกหลายแผ่น ที่พบทางแคว้นล้านนา และมีคัมภีร์ที่จารลงบนใบลาน เป็นจำนวนมาก แสดงว่าไทยล้านนา ได้สร้างตัวอักษรไทยล้านนาขึ้น และได้ใช้อยู่ก่อนลายสืไท ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่ภายหลัง เมื่อมีลายสืไทขึ้นแล้ว ไทยล้านนาก็รับเอาลายสือไทเข้าไปใช้ด้วย แต่วิธีเขียน ยังคงอาศัยแบบอักษรมอญ
พยัญชนะตัวหนังสือล้านนา
มีอยู่ 43 ตัว ด้วยกัน คือ ยิ
สระลอย
มีอยู่ 8 ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
สระจม
มีอยู่ 28 ตัว คือ า เ-ะ เ- แ-ะ แ- โ-ะ เ-าะ - เ-อะ เ-อ เ-ียะ เ-ีย เ-ือะ เ-ือ -ัวะ -ัว - ไ- ไย เ-า
ตัวหนังสือของกลุ่มไทยที่อยู่ตอนเหนือของอินโดจีน
การอพยพของเผ่าไท ได้ทะยอยกันมาหลายละลอก มีพวกเผ่าไทยอพยพเข้าไปอยู่ในตังเกี๋ย เป็นจำนวนมาก และได้แพร่ไปถึงเกาะไหหลำ พวกไหหลำ เรียกชื่อคนพวกนี้ว่า พวกลอยหรือลี้ การอพยพได้อาศัยหลักการอพยพ เข้าไปสู่ต้นน้ำของลุ่มน้ำสำคัญ แล้วเคลื่อนที่ต่อตามลำน้ำนั้น ลงไปทางปากแม่น้ำ เผ่าไทยที่อพยพมาทางตังเกี๋ย ได้ยึดแนวแม่น้ำดำ และแม่น้ำแดง ซึ่งต้นน้ำอยู่ทางเทือกเขา ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไหลผ่านทางเหนือของเวียดนาม มาลงทะเลที่อ่าวตังเกี๋ย ได้ตั้งบ้านเมืองในท้องที่ต่าง ตามลุ่มน้ำทั้งสอง และลุ่มน้ำอื่น ๆ ที่ไหลไปทางตะวันออก และลงทะเลที่อ่าวตังเกี๋ยทั้งสิ้น ดินแดนแถบทางเหนือของเวียดนามนี้ เป็นดินแดนที่ครอบคลุมแคว้นสิบสองปันนา หัวพันทั้งห้าทั้งหก เมื่อได้ตั้งบ้านเมืองแล้ว ก็ปกครองตนเองเป็นอิสระ และตั้งชื่อเผ่าของตนต่าง ๆ กันไป เช่น ไทยขาวอยู่ทางลุ่มแม่น้ำดำตอนบน ไทยดำอยู่แถวเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟูในปัจจุบัน ไทยแดงอยู่ในเขตซำเหนือ พวกผู้ไทยอยู่ในลาวตอนเหนือ และในมณฑลแห่งอันของเวียดนาม ไทยเลียบน้ำอยู่แถบเมืองอังฮั้วในเวียดนาม และไทยล้านช้างก็ได้ตั้งเป็นราชอาณาจักรลาว
การคิดดัดแปลงตัวอักษร ของบรรดาเผ่าไทยเหล่านี้ ได้รับอิทธิพลจากลายสืไทของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชอยู่มาก และได้รับแบบและความคิดไปจากอักษรลานนาไทย

ตัวหนังสือลาว

ตามพงศาวดาร โอรสของพ่อขุนบรมแห่งราชอาณาจักรน่านเจ้า ได้แยกย้ายกันไปปกครองเผ่าไทยในถิ่นต่าง ๆ ขุนลอ ได้มาปกครองอาณาจักรล้านช้างหรือกรุงศรีสัตนาคนหุต อันเป็นประเทศลาวมีเมืองสำคัญ คือ เมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองที่ราชอาณาจักรสุโขทัยแผ่อำนาจไปถึง อิทธิพลของอักษรไทยจึงได้ไปกำหนดรูปแบบ ในตัวอักษรลาวอยู่มาก รูปแบบของหนังสือลาวในปัจจุบัน เป็นรูปแบบที่เห็นได้ชัดเจนว่า ได้พัฒนาตามแบบตัวหนังสือไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นตัวหนังสือไทยเผ่าเดียว ที่ได้สร้างตัวอักษรใกล้เคียงกับอักษรไทยปัจจุบันมากที่สุด ลาวรับเอาตัวหนังสือไทยไปใช้เท่าที่จำเป็น แต่ได้รับเอาสระไปใช้เป็นส่วนใหญ่ และรับวรรณยุกต์ไปหมดทุกตัว
พยัญชนะตัวหนังสือลาว
มี 27 ตัว คือ
สระ
มี 28 รูป คือ เ-ะ เ- แ-ะ แ- โ-ะ โ- เ-าะ อ-ัง -ัวะ -ัว เ-ียะ เ-ีย เ-ือะ เ-ือ เ-ิ ไ- ใ- เ-า -
วรรณยุกต์
มี 4 รูป คือ
ตัวหนังสือพวกเผ่าไทยในตังเกี๋ย
เนื่องจากเผ่าไทยในตังเกี๋ยอยู่กันกระจัดกระจาย ปนอยู่กับชนชาติอื่น ๆ การคมนาคมติดต่อกันยากลำบากเพราะภูมิประเทศไม่อำนวย ดังนั้นจึงต่างดัดแปลงตัวหนังสือขึ้นใช้กันเอง แต่พื้นฐานตัวหนังสือหลักที่ใช้เป็นแม่แบบ คงอาศัยอักษรไทยล้านช้างหรือลาวเป็นหลัก และรับไปใช้เท่าที่จำเป็นแล้วไปจัดเรียงลำดับเอาเองโดยไม่ได้อาศัยแบบแผนเดิม
หนังสือไทยขาวเมืองไล
มีพยัญชนะ 30 ตัว คือ
มีสระ 9 ตัว คือ กา กิ กี กุ เก แก ไก โก เกา
ตัวหนังสือไทยดำ
มีพยัญชนะ 25 ตัว คือ
มีสระ 13 ตัว คือ กา กิ กี กุ เก แก เดิน เสือ เลีย ไป ใจ โด เขา
ตัวหังสือเจ้าไทยเมืองอึงฮั้ว
มีพยัญชนะ 23 ตัว คือ
มีสระ 11 ตัว คือ กา กิ กี กุ เก แก เดิน เสือ เมีย ไป เหา
ตัวหนังสือผู้ไทยมณฑลเหงอัน
มีพยัญชนะ 23 ตัวคือ
มีสระ 12 ตัว คือ กา กิ กี กุ เก แก เกือ เกีย ไก ใก โก เกา
ตัวหนังสือไทยเลียบน้ำ มณฑลเหงอัน
มีพยัญชนะ 20 ตัว คือ
มีสระ 12 ตัว คือ กา กิ กี กุ เก แก เกือ เกีย ไก ใก โก เกา
ตัวหนังสือไทยในพม่าตอนเหนือและอินเดีย
ในพุทธศตวรรษที่ 18 เผ่าไทยที่อพยพไปทางอินเดียที่แคว้นอัสสัม สามารถตั้งตัวเป็นราชอาณาจักร มีกษัตริย์ปกครองตนเองและมีอำนาจมาก เรียกตัวเองว่าไทยอาหม มีราชอาณาจักรปกครองตนเองอยู่ถึง 500 ปี ไทยอาหมมีตัวหนังสือใช้เอง แต่ปัจจุบันแทบจะหาคนอ่านไม่ได้ และตัวภาษาก็หาคนพูดได้ยาก แต่ยังมีคนไทยพวกอื่น ๆ คงอยู่ในแคว้นอัสสัม ที่ยังจำคำภาษาไทยได้ และยังใช้ภาษาไทยพูดกันอยู่ พวกชาวไทยกลุ่มต่าง ๆ ในแคว้นอัสสัม มีตัวหนังสือใช้ ตัวหนังสือเหล่านั้นได้มาจากไทยใหญ่ในพม่า ซึ่งมีพื้นฐานดัดแปลงจากอักษรมอญเป็นสำคัญ ดังกล่าวมาแล้ว
ตัวหนังสือไทยใหญ่ในพม่า

ไทยใหญ่มีถิ่นฐาน อยู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ได้ตั้งบ้านเมืองเป็นเอกราช หลายกลุ่มหลายพวก เป็นอิสระแก่กัน แต่มีความเชื่อมโยงกัน ได้ครอบครองเมืองต่าง ๆ ในแคว้นสิบสองปันนา ในรัฐฉานทางเหนือของพม่ามีหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองลุง เมืองคัง เชียงรุ้ง เชียงตุง และเมืองแสนหวี ในพุทธศตวรรษที่ 15 ได้ตั้งอาณาจักรเชียงแสน
ตัวหนังสือไทยใหญ่ในรัฐฉาน มีตัวหนังสือน้อยตัว พยัญชนะ ไทยใหญ่มีพยัญชนะตัวเดียวแทนทุกเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงสูงหรือเสียงต่ำ คือใช้ตัว ข แทนทั้งหมด พยัญชนะ ไทยใหญ่ใช้ตัว แทนทั้งหมด
ตัวหนัวสือไทยใหญ่

กา กิ กี บุ บู เซ โต มอ

ตัวหนังสือไทยอาหม

ไทยอาหมรับตัวหนังสือของไทยใหญ่ไปใช้พร้อม กับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีของไทย ในตอนเริ่มแรก แต่ตอนหลัง ได้รับอิทธิพลของอินเดียเข้ามาผสมผสาน รูปตัวหนังสือจึงเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ตัวหนังสือของไทยอาหม มีพยัญชนะอยู่ 23 ตัว และสระ 18 ตัว สำหรับตัว อ ใช้เป็นได้ทั้งพยัญชนะ และสระ เช่นเดียวกับของไทย แต่ไม่มีวรรณยุกต์
หนังสือไทยอาหม
มีพยัญชนะ 23 ตัว คือ ร ล
มีสระ 18 ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอะ เอ โอะ โอ อือ ไอ เอา เอีย เอือ เอาะ ออ

ไทยขำตี่เป็นพวกไทยใหญ่อพยพเข้าไปอยู่ทางอัสสัมตะวันออก เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ภาษาและหนังสือจึงถอดแบบมาจากไทยใหญ่ทั้งสิ้น มีพยัญชนะน้อยกว่าไทยอาหม นับว่าเป็นเผ่าไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดในอินเดีย ที่ยังคงรักษาภาษาของตนไว้ได้ในปัจจุบัน
หนังสือไทยอื่น ๆ ในแคว้นอัสสัมของอินเดีย
นอกจากไทยขำตี่แล้ว ยังมีพวกไทยที่อพยพเข้าไปภายหลัง ได้แก่ ไทยพาเกียล หรือ พาเก อพยพจากอาณาจักรปุง เมื่อพระเจ้าอลองพญาของพม่าตีเมืองคังแตกใน พ.ศ. 2303 ไทยโนราอพยพจากเมืองคังเช่นกัน ไทยรงหรือไทยตุรุง ไทยอ้ายต้น ซึ่งอพยพไปหลังสุด เมื่อประมาณร้อยปีเศษมานี้ และไปจากบริเวณใกล้เคียงเมืองคัง พวกไทยเหล่านี้นับถือพุทธศาสนา และรูปแบบตัวหนังสือ ก็ได้จากไทยอาหม ไทยขำตี่ และไทยใหญ่ เป็นหลัก

ไทยในประเทศจีนปัจจุบัน

ปัจจุบันปรากฎว่ามีคนไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ ในประเทศจีน เป็นจำนวนมาก เช่นในยูนาน ในน่านเจ้า ชายแดนติดต่อระหว่างจีนกับพม่า จีนกับเวียดนาม ในมณฑลกวางสีคนไทยเหล่านี้แบ่งออกเป็นเผ่าต่างๆ เช่น ไทยยก ไทยหกหรือไทยจก ไทยลื้อหรือไทยใหญ่ในพม่า ไทยลุงหรือไทยหลวง ไทยย้อย ไทยจุงเจี่ย ไทยโท้ ไทยนุง ไทยลี้ คนเหล่านี้พูดภาษาไทยและส่วนใหญ่ใช้ตัวหนังสือจีน แต่มีบางพวกก็ใช้หนังสือไทยใหญ่ในพม่าไปใช้
ส่วนคนไทยที่อพยพจากจีน กระจายไปอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีพวกใดเอาตัวหนังสือจีนมาใช้ แต่รับเอาหนังสือมอญโบราณ ขอมโบราณ มาดัดแปลงเป็นตัวหนังสือ ใช้เขียนภาษาไทยของตนเอง อย่างไรก็ตามไม่มีตัวหนังสือไทยของคนไทยพวกใด ที่จะสามารถนำมาเขียน ให้ออกเสียงภาษาไทยของตนได้สมบูรณ์ ยกเว้นหนังสือที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์ขึ้น นอกจากนั้น ยังได้นำเอาตัวหนังสือไทยที่ดัดแปลงแล้วนี้ กลับไปใช้ในชาวไทยบางพวก ที่อยู่ใกล้ประเทศจีนอีกด้วย
ตัวหนังสือธรรม
ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทางด้านพระพุทธศาสนา ได้มีการจารและเขียนหนังสือทางศาสนา ด้วยตัวหนังสือที่ไม่เหมือนกับหนังสือไทยที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเจตนาที่มีมานาน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาว่า กิจการของฝ่ายศาสนจักร ควรแยกออกจากฝ่ายอาณาจักร จึงได้ใช้ตัวหนังสือของศาสนจักรโดยเฉพาะ สำหรับในภาคกลางและภาคใต้ ก็ใช้หนังสือขอมแทน ทางภาคเหนือใช้ตัวอักษรธรรมของล้านนา ทางอิสานก็ใช้ตัวหนังสือธรรมของอิสาน นอกจากนี้ยังใช้เขียนเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ พงศาวดาร และวรรณคดี
ตัวหนังสือธรรมล้านนาไทย

มีหลักฐานยืนยันได้ว่า ตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้แพร่หลายเข้าไปในล้านนาไทย ในสมัยพระเจ้ากือนา แห่งเชียงใหม่ ศิลาจารึกที่วัดพระยืน จังหวัดลำพูน ใช้อักษรไทยสุโขทัยจารึก เมื่อปี พ.ศ. 1912 แต่หนังสือของศาสนาจักร คงมีการใช้อักษรที่แตกต่างกันออกไป เรียกว่าอักษรธรรมบ้าง ตัวเมืองบ้าง
ตัวหนังสือธรรมนี้ ไม่ทราบแน่ว่าผู้ใดคิดขึ้น และมีใช้มาแต่เมื่อใด แต่มีหลักฐานศิลาจารึกวัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน จารึกเมื่อปี พ.ศ. 2091 และมีจารึก ที่ฐานพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนองค์หนึ่ง ที่วัดเม็งราย จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2013 ซึ่งพอสันนิษฐานได้ว่าตัวหนังสือธรรมล้านนาไทย
คงจะมีขึ้นในห้วงระยะเวลา พุทธศตวรรษที่ 20 ถึง 21 ต่อกัน โดยนักปราชญ์ชาวล้านนาไทยประดิษฐ์ขึ้น ภายใต้อิทธิพลของอักษรมอญ - พม่า
ลักษณะตัวหนังสือธรรมลานนา มีอักขระตามภาษาบาลี 41 ตัว เป็นพยัญชนะ 33 ตัว สระ 8 ตัว และมีสระเฉพาะท้องถิ่นอีก 28 ตัว พยัญชนะเฉพาะท้องถิ่นเพิ่มอีก 9 ตัว
ตัวหนังสือธรรมล้านนา
มีพยัญชนะ 42 ตัว คือ อัง
มีสระลอย 8 ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
สระมี 28 ตัว คือ เ - ะ เ - แ - ะ แ - โ - ะ โ- ไ- เ - า - เ - าะ - -ัวะ -ัว เ - อะ เ - อ เ - ียะ - ี ย เ - ีอะ เ - ื อ
วรรณยุกต์ ประกอบด้วย ไม้หันอากาศ ไม้เอก ไม้โท ไม้ไต่คู้ ไม้การันต์ และไม้ยมก
ตัวหนังสือธรรมอิสาน

ดินแดนภาคอิสาน อยู่ในอำนาจของขอมมาแต่โบราณกาล บรรดาศิลาจารึกที่พบในยุคแรก ๆ ของภาคนี้ เป็นอักษรปัลลวะของอินเดียตอนใต้ เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ ต่อมาเมื่อขอมมีอำนาจตัวอักษรในพื้นที่นี้ก็เป็น อักษรขอมเป็นส่วนใหญ่ อักษรสุโขทัยไม่ได้แพร่ไปถึงอิสาน เมื่อพ้นอิทธิพลของขอม ก็มีศิลปวัฒนธรรมอยุธยาเข้ามาแทนที่ วัฒนธรรมสุโขทัยกลับแพร่ขยายไปล้านนาไทย แล้วผ่านไปล้านช้าง จากนั้นจึงวกเข้าอิสาน ดังนั้นตัวหนังสือไทยจึงผ่านจากลาว ข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทย ซึ่งการปรากฎครั้งแรก ๆ จะพบตามเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงก่อน
ตัวหนังสือธรรมอิสานเอามาใช้จารบนใบลาน และมีอายุอย่างเก่าอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 20 ทั้งสิ้น มีอักขระสำหรับใช้เขียนภาษาบาลีและภาษาท้องถิ่นอยู่ 60 ตัว เป็นพยัญชนะ 37 ตัว และสระ 23 ตัว ลักษณะรูปตัวหนังสือได้รับอิทธิพลจากหนังสือขอม และยังมีสระพิเศษ เช่น นิคหิต ใช้เป็นตัว ง สะกด เมื่อเขียนตามภาษาบาลี และใช้เป็นเสียงสระออ เมื่อไม่มีตัวสะกด เมื่อเขียนเป็นภาษาท้องถิ่นอิสาน
พยัญชนะ มี 37 ตัวคือ หย
สระลอย มี 23 ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
สระมี 23 ตัว คือ เ- แ- โ- เ - าะ - -ั ว -ี ย -ื อ เ - อ - ไ- เ - า โ- ออย ฤา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เมื่อครั้งยังผนวชเป็นพระภิกษุ ยังไม่ได้ครองราชย์ ได้เสด็จประพาสเมืองเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2376 ได้ทรงพบแท่นศิลาแห่งหนึ่งก่อไว้ที่ริมเนินปราสาท และเสาศิลาจารึกอักษรเขมรเสาหนึ่ง และอักษรไทยโบราณอีกเสาหนึ่ง จึงรับสั่งให้ชลอลงมาไว้ที่วัดราชาธิวาส ภายหลังเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จึงดำรัสสั่งให้นำไปไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศิลาจารึกอักษรไทยโบราณนี้ก็คือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ได้ทรงจารึกพระราชประวัติ และเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองสุโขทัย และจารึกด้วยอักษรไทยที่พระองค์ประดิษฐ์ขึ้น
หลักศิลาจารึกหลักนี้ นับว่าเป็นศิลาจารึกหลักสำคัญ และล้ำค่ายิ่งของไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เป็นผู้อ่านศิลาจารึกนี้ได้เป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2879 ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบและอ่านศิลาจารึก และเป็นคนแรกที่ค้นคว้า เกี่ยวกับกำเนิดตัวหนังสือไทย และสรุปได้ ดังนี้
ต้นตอของตัวหนังสือไทย เริ่มจากอักษรโฟนิเชียน ซึ่งเป็นต้นเค้าของอักษรพราหมีของอินเดีย ต่อมาขอมได้ดัดแปลงอักษรอินเดีย ให้เป็นหนังสือขอม ซึ่งปรากฎมีจารึกอักษรขอม ตั้งแต่สมัยพระเจ้าภววรมันที่ 1 พ.ศ. 1150 ขอมได้ดัดแปลงอักษรอินเดียใต้ เป็นตัวอักษรขอม โดยได้ปรับปรุงให้เหมาะสมขึ้น เพื่อให้สะดวกในการสลักลงบนหิน พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ได้ทรงดัดแปลงตัวหนังสือขอมหวัดให้ดีขึ้นมาเป็นตัวหนังสือไทย โดยมีการแก้ไขปรับปรุงที่สำคัญ คือ
1.
เปลี่ยนแปลงรูปตัวอักษรขอม ให้ง่ายและสะดวกแก่การเขียนยิ่งขึ้น
2.
ตัวอักษรสังโยค โดยให้เขียนพยัญชนะสองตัวเรียงตามกัน และเอาสระที่อยู่สูงกว่าและต่ำกว่าพยัญชนะมาอยู่ในบันทัดเดียวกัน
3.
ทรงคิดวรรณยุกต์ขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นคนแรกของโลกก็ว่าได้ ทำให้ตัวหนังสือไทยสมบูรณ์ เขียนแล้วอ่านออกเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียงจริง ยิ่งกว่าหนังสือของชาติใด ๆ ในโลก เป็นหนังสือที่ก้าวหน้ากว่าหนังสือใด ที่มีใช้ในสุวรรณภูมิในขณะนั้น และแม้ในขณะนี้ก็ตาม

นอกจากการจารึกบนศิลาแล้ว เครื่องเขียนหนังสือไทยในสมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ต่อมาสมัยอยุธยาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีวิธีที่สำคัญอยู่สองแบบคือ เขียนหนังสือไว้ในลักษณะสมุดไทย หรือเขียนไว้ในสมุดข่อยนั่นเอง และเขียนโดยจารลงบนใบลาน การเขียนในสมุดข่อยเป็นการเขียนหนังสือโดยทั่ว ๆ ไป ส่วนการจารลงบนใบลาน มักใช้กับคัมภีร์ทางศาสนา เพื่อใช้สำหรับเทศน์เป็นส่วนใหญ่
สมุดข่อย หรือสมุดไทย
มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีหนังสือใดเหมือน คือเป็นหนังสือ ที่ใช้กระดาษยาวติดต่อเป็นแผ่นเดียวกันตลอดเล่ม โดยใช้วิธีพับกลับไปมาให้เป็นเล่ม จะทำให้เป็นเล่มยาวเท่าใดก็ได้ แต่ขนาดที่นิยมเป็นมาตรฐาน มีอยู่ด้วยกัน 7 ขนาด แบ่งประเภทตามการใช้งาน คือ
1.
สมุดพก กว้าง 8 ซ.ม. ยาว 15 ซ.ม.
2.
สมุดถือเฝ้า กว้าง 10 ซ.ม. ยาว 26 ซ.ม.
3.
สมุดจดหมายเหตุ กว้าง 12 ซ.ม. ยาว 34 ซ.ม.
4.
สมุดพระมาลัย กว้าง 13 ซ.ม. ยาว 66 ซม.
5.
สมุดไสยศาสตร์ กว้าง 15 ซม. ยาว 41 ซม.
6.
สมุดภาพไตรภูมิ แบบ 1 กว้าง 12 ซม. ยาว 63. ซม.
7.
สมุดภาพไตรภูมิ แบบ 2 กว้าง 28 ซม. ยาว 5 ซม.
สมุดไทย
เป็นรูปแบบหนังสือที่สะดวกในการใช้ สามารถบรรจุ เรื่อง บรรจุภาพได้สมบูรณ์กว่ารูปแบบหนังสือของชาติใด ที่เคยใช้กันมา สมุดข่อยทำจากเปลือกข่อย มีกรรมวิธีในการผลิตที่ซับซ้อน วัสดุที่ใช้เขียนมีหลายอย่าง เช่น ดินสอขาว น้ำหมึกที่ทำจากเขม่าไฟ หรือหมึกจีน สีขาวได้จากเปลือกหอยมุก สีแดงได้จากชาด สีทองได้จากทองคำเปลวหรือทองอังกฤษ สีเหลืองได้จากส่วนผสมของรงและหรดาล หมึกขาวและดินสอขาว ใช้เขียนบนสมุดดำ หมึกดำและหมึกสี ใช้เขียนบนสมุดขาว การเขียนจะเขียนทั้งสองหน้ากระดาษ
ใบลาน
เป็นวัสดุสำหรับเขียนอีกอย่างหนึ่ง ได้จากต้นลานที่มีอยู่ในป่าเมืองไทย ต้องคัดใบที่ได้ขนาดพอดีทั้งความกว้างและยาว และความอ่อนแก่ของใบ แล้วนำมาทำเป็นผูกใบลาน การเขียนบนใบลานใช้วิธีจาร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เมื่อมีกระดาษฝรั่ง ปากกา ดินสอ เครื่องมือในในการเขียน แบบฝรั่งเข้ามาถึงไทย การเขียนหนังสือไทย ก็เขียนบนกระดาษ ด้วยดินสอและปากกา ปากาเดิมเป็นปากกาหมึกจิ้ม ทำด้วยโลหะ เช่น ปากกาคอแร้ง และปากกาเบอร์ 5 สามารถเขียนตัวอักษร เป็นเส้นหนาบางได้ ตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นต้นแบบของตัวหนังสือ ที่เรียกว่า ตัวอาลักษณ์ ต่อมาเมื่อใช้ปากกาหมึกซึม และปากกาแบบอื่น ๆ เช่น ลูกลื่น รูปตัวหนังสือก็จะเป็นเส้นสม่ำเสมอ ไม่มีหนาบาง
ในสมัยเดียวกันนี้ ได้มีการนำตัวหนังสือไทยมาทำเป็นตัวพิมพ์ และจัดพิมพ์หนังสือไทยขึ้น และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ได้เกิดเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น การพัฒนาและความก้าวหน้าในการพิมพ์ได้เจริญไปตามลำดับ จนถึงการสร้างตัวหนังสือด้วยการเรียงพิมพ์ด้วยแสง และการนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในการพิมพ์

วิวัฒนาการรูปตัวหนังสือไทย

รูปแบบตัวหนังสือไทย ได้มีการพัฒนามาตามลำดับ ในสมัยอยุธยาช่วงหลังถือว่าใน รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นยุคทองของกรุงศรีอยุธยา มีความเจริญสูงสุดในทุกด้าน ตำราต่าง ๆ เกี่ยวกับภาษาไทย ได้อ้างลักษณะตัวหนังสือไทยสมัยนี้ให้ดูเป็นหลัก ลักษณะรูปร่างตัวหนังสือไทย ได้พัฒนามาจนเป็นแบบใกล้เคียงกับตัวหนังสือที่ใช้เขียนในปัจจุบัน


ตัวหนังสือในหนังสือจินดามณี

การพิมพ์หนังสือไทย เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณมหาราช เมื่อ ปี พ.ศ. 2205 โดยมิชชันนารีคาทอลิคฝรั่งเศส ได้มีการพิมพ์คำสอนทางคริสตศาสนา เป็นภาษาไทย จำนวน 26 เล่ม หนังสือไวยากรณ์ไทยและบาลี 1 เล่ม และพจนานุกรมไทยอีก 1 เล่ม มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรี
ในสมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์และก่อนหน้านั้น ก่อนจะมีการนิยมเขียนหนังสือบนกระดาษฝรั่ง การเขียนหนังสือไทย ได้ยึดหลักเขียนใต้เส้นบรรทัด โดยถือเอาด้านบนของตัวหนังสือ
ไปชนด้านล่างของเส้นบรรทัด เลียนแบบการเขียนหนังสือของอินเดีย การปรับตัวหนังสือไทย ให้เป็นตัวพิมพ์สำหรับใช้พิมพ์ ทำให้เกิดรูปแบบตัวหนังสือไทยอีกแบบหนึ่ง ที่มีความสวยงามและอ่านง่าย

ตัวหนังสือไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า

พระองค์ได้รับยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งการพิมพ์ไทย ทรงคิดที่จะเอาตัวพยัญชนะ และสระ ให้มาอยู่ในบรรทัดเดียวกัน โดยเรียงสระอยู่หลังพยัญชนะ เช่นอักษรยุโรป ทรงเรียกอักษรที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นมาว่า อักษรอริยกะ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากรูปตัวหนังสือเปลี่ยนรูปร่างออกไปจากอักษรไทยเดิมมาก ไปเลียนแบบรูปร่างอักษรโรมัน
ในรัชสมัยของพระองค์ หลวงสารประเสริฐ (น้อย อาจารยางกูร ) ได้แต่งแบบสอนหนังสือไทยขึ้นมาชุดหนึ่ง คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์กร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ อนันตวิภาค เขมรรากษรมาลา นิติสารสาธก และปกีรณำ ทำให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในภาษาไทย และอักษรไทยขึ้น
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า

หลวงสารประเสริฐได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร และได้ปรับปรุงตำราสอนภาษาไทยที่แต่งไว้เดิม ให้เหลือเพียงหกเล่มแรก เรียกว่าชุดตำราเรียนหลวง
เมื่อปี พ.ศ. 2435 กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงควบคุมรับผิดชอบการศึกษา เห็นว่าชุดตำราเรียนหลวงยาวเกินไป ต้องเรียนนานเกินไป จึงทรงนิพนธ์แบบเรียนเร็วขึ้น 3 เล่ม ในการนี้ได้ให้ชื่อตัวอักษรไทยทุกตัว เพื่อให้จำได้ง่าย ดังที่ปรากฏมาจนถึงปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก เป็นชื่อมาตรฐานที่ใช้กันเป็นแบบเดียวกัน นับว่าเป็นวิธีการที่ชาญฉลาด ไม่มีหนังสือชาติใดที่คิดทำแบบนี้ เพราะถึงจะมีอยู่บ้างก็ไม่เป็นมาตรฐานทั่วไป ต่อจากนั้นยัง ได้มีการเอาชื่อตัวอักษรเหล่านั้นมาประดิษฐ์เป็นคำร้อยกรองประกอบ เพื่อให้จดจำง่ายขึ้นทั้งตัวอักษรแต่ละตัว และลำดับตัวอักษรตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น ก. ไก่เอ๋ย ข. ไข่มาหา ฃ. น้องชาย ควายเข้านา โสภา เดินหน้า ง. ใจหาย จ. จริงจัง ฉ. ตีดัง ระวังช.ช้าง......ฮ. นกฮูกตาโต
เมื่อปี พ.ศ. 2416 หมอบรัดแลย์ ได้จัดพิมพ์หนังสือ อักขราภิธานศรับท์ เป็นหนังสือพจนานุกรมเล่มแรกของไทย ใช้ตัวพิมพ์ไทยที่ได้พัฒนาแล้ว มีคำทั้งหมดประมาณ 40,000 คำ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2426 กรมศึกษาธิการได้ให้ขุนประเสริฐอักษร (แพ ตาละลักษณ์) จัดทำพจนานุกรมของทางราชการขึ้นเป็นครั้งแรก
การรวบรวมคำไทยเพื่อจัดพิมพ์ ได้เคยมีผู้รวบรวมก่อนและหลังหมดบรัดเลย์อยู่บ้าง พอประมวลได้ดังนี้
พ.ศ. 2389 มิชชันนารี เทเลอร์ โจนส์ ได้รวบรวมคำไทย และจัดทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้ตีพิมพ์
พ.ศ. 2397 สังฆราชปัลเลอกัวซ์ ได้รวบรวมคำไทย แล้วทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศษ และภาษาลาติน ตีพิมพ์ที่ปารีส ให้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า สัพพะพจนะพาสาไทย
พ.ศ. 2439 บาทหลวง เวย์ ได้แก้ไขเพิ่มเติม สัพพะพจนะพาสาไทย แล้วจัดพิมพ์ใหม่ให้ชื่อว่า ศริพจน์ภาษาไทย รวบรวมคำไทยได้ประมาณ 30,000 คำ ทั้งที่ใช้พูดอยู่ และที่ไม่ได้ใช้
พ.ศ. 2434 นาย อี.บี มิชเชล ที่ปรึกษาทางกฎหมายของไทย ได้รวบรวมคำไทยทำพจนานุกรม ชื่อว่า ลิปิกรมายนภาษาไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษ กล่าวว่ามีคำไทยที่ใช้พูดกันอยู่ในสมัยนั้น ประมาณ 14,000 คำ แต่หนังสือฉบับนี้ได้คัดเลือกมาเพียง 8,000 คำ
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ทรงปราดเปรื่องในทางภาษาศาสตร์อย่างยิ่ง พระองค์ได้ทรง พระราชนิพนธ์หนังสือวรรณคดี สารคดี ไว้มากยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด ในประวิติศาสตร์ไทย จนทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น พระมหาธีรราชเจ้า
พระองค์ได้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา กำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องเรียนหนังสือ กรมศึกษาธิการ ได้เรียบเรียงตำราไวยากรณ์ไทยขึ้นเป็นแบบเรียน โดยตั้งกำหนดกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ขึ้น สำหรับภาษาไทย โดยอาศัยเทียบเคียงกับกฎเกณฑ์ของภาษาอังกฤษ และชาติในยุโรปเป็นหลัก ต่อมาพระยาอุปกิตศิลปสาร (เพิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้แก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่การศึกษา เรียกว่าวิชาหลักภาษาไทย จัดทำเป็นหนังสือ 4 เล่มชุด คือ

อักขระวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์ ซึ่งถือเป็นตำราหลัก ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้
ภาษาไทยแต่เดิม เป็นภาษาที่ไม่มีไวยากรณ์ การเขียนหนังสือไทยยุคโบราณ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์แน่นอน การสะกดการันต์ก็เขียนกันตามสะดวก มาในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตามลำดับ ต่อมาเมื่อได้ตั้งราชบัณฑิตยสถานขึ้น และให้รับผิดชอบในการจัดทำพจนานุกรม คำศัพท์ในพจนานุกรม จึงเป็นแม่แบบที่ถูกต้อง
พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้า ฯ ได้ทรงเห็นข้อบกพร่องในการเขียนหนังสือไทย ดังนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2460 จึงได้ทรงดำริจะแก้ไขวิธีการเขียนหนังสือไทยให้รัดกุม หัวข้อเรื่องที่พระองค์เห็นว่า ควรจะได้ปรับปรุงแก้ไขมีอยู่ 5 ประการด้วยกัน คือ
1.
วิธีเขียนสระ ซึ่งเขียนไว้ในที่ต่าง ๆ กัน ทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ข้างบน และข้างล่าง พยัญชนะ ทำให้ผู้เรียนใหม่ฉงน
2.
สระผสม เป็นการผสมตามใจชอบ โดยมิได้คำนึงถึงเสียงจริง จึงต้องใช้วิธีจำเอาโดยตรง ยากที่จะเข้าใจได้
3.
ตัวพยัญชนะเปล่า ไม่มีสระกำกับอยู่ ก็สามารถอ่านออกเสียงได้ เป็นเสียงอะก็มี ออก็มี ทำให้เป็นข้อฉงนได้ เช่น ปฐม ออกเสียง อะ บดี ออกเสียง ออ เป็นต้น
4.
วิธีใช้พยัญชนะกล้ำ ก็ยากแก่การแก้ไข คือ ไม่ทราบว่าเมื่อใดจะออกเสียงกล้ำ และเมื่อใดจะไม่ออกเสียงกล้ำ นอกจากนี้การที่เขียนสระไว้หน้า ทำให้ไม่แน่ว่าพยัญชนะตัวที่ 2 จะกล้ำกับตัวที่ 1 หรือเป็นตัวสะกด เช่น เขียนว่า "โสน" "จันทโครพ" "เพลา" "โคลน" "อิเหนา" อาจจะอ่านได้สองอย่าง เป็นต้น
5.
ลักษณะการเขียนหนังสือ จะเขียนถ้อยคำติดกันไปหมด ไม่เว้นระยะคำทุกคำ อย่างเช่น ลักษณะการเขียนหนังสือของชาวยุโรป ทำให้เป็นที่ฉงน แก่ผู้ที่ไม่ชำนิชำนาญในเชิงการอ่านหนังสือไทย ในเรื่องนี้ พระองค์ได้ทรงยกตัวอย่างการแก้ไขในข้อ 5 ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่าย
นอกจากความคิดจะปรับปรุงแก้ไขใน 5 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว พระองค์ยังทรงคิดแก้ไขรูปสระของไทยเสียใหม่ เพื่อให้เขียนอยู่บรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ โดยทรงเอาตัวอย่างแบบชาวตะวันตกบ้าง ตามแบบของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชบ้าง และตามแบบขอมบ้างมาเป็นหลักพิจารณา แต่เนื่องจากพระองค์มีเวลาน้อย ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน แนวพระราชดำริดังกล่าวจึงไม่ประสบผลสำเร็จ
การพัฒนาตัวหนังสือไทยในระยะหลัง
หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รูปแบบตัวหนังสือไทย ได้พัฒนามาอยู่ในขั้นที่มีสภาพคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงออกไปมาก ในปี พ.ศ. 2470 ได้มีการยกเลิกตัว และ ฅ คน เพราะปทานุกรมที่กระทรวงธรรมการจัดพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปีนี้ ได้เขียนคำอธิบายว่า ตัวอักษรสองตัวนี้เลิกใช้แล้ว และไม่ได้เก็บคำศัพท์จากตัวอักษรสองตัวนี้ ไว้ในปทานุกรม
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการใช้ตัวหนังสือไทย เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2485 เมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับปรุงด้านภาษาและหนังสือหลายประการ ได้มีการตัดตัวพยัญชนะ และสระที่มีเสียงซ้ำกันออกไป สรุปได้ดังนี้
1.
ตัวอักษรที่มีเสียงซ้ำกัน โดยตัด และ ฬ ตัดสระ ฤๅ ฦๅ ออกไป ถือว่าตัวหนังสือไม่มีใช้ และไม่กระทบกระเทือนการใช้ภาษาไทย ตัวอักษรที่ตัดออกไป ให้ใช้คำที่ออกเสียงพ้องกันที่เหลืออยู่แทน เช่น ส. ใช้แทน ศ ใช้แทน ณ ด ใช้แทน ใช้แทน ใช้แทน ถ ใช้แทน ใช้แทน และ ร ใช้แทน เป็นต้น
2.
ตัว ญ โดยทั่วไปใช้ ตัว ย แทน แต่ในกรณีที่ต้องเขียนคำบาลี สันสกฤต ให้ใช้ตัว ญ ได้
แต่ให้ตัดเชิงตัว ออก เช่น ผู้หญิง เป็น ผู้หยิง ใหญ่ เป็น ไหย่
3.
ตัวกล้ำ ทร ที่ออกเสียง ให้ใช้ตัว แทน เช่น ทราบ เป็น ซาบ ทราย เป็น ซาย
4.
ตัว ที่ นำ ให้เปลี่ยนเป็น นำ เช่น อย่า อยู่ อย่าง อยาก เป็น หย่า หยู่ หย่าง หยาก
5.
หลักทั่วไปใช้คำบาลีแทนคำสันสกฤต เช่น กัม ธัม นิจ สัจ แทน กรรม ธรรม นิตย์ สัตย์ เว้นแต่คำที่ใช้รูปบาลีมีความหมายหนึ่ง และรูปสันสกฤตมีอีกความหมายหนึ่ง ก็ให้คงใช้ทั้งสองคำ แต่เปลี่ยนรูปการเขียนตามอักษรที่เหลืออยู่ เช่น มายา มารยา วิชชา วิชา วิทยา กติกา กริสดีกา สัตราวุธ ศาสตราจารย์ วิทยาสาสตร์ สูนย์กลาง
6.
ร หันในแม่ กก กด กบ กม ยกเลิกแล้วให้ไม้หันอากาศแทน เช่น อุปสัค วัธนา บัพ กัมการ แต่ หันในแม่กน ยังคงให้มีใช้ได้ เช่น บรรพบุรุษ สรรค วรรณคดี
7.
คำที่มาจากบาลี ถ้าตัวสะกดมีอักษรซ้ำ หรืออักษรซ้อน ในกรณีตัวหลังไม่มีสระกำกับ ให้ตัดตัวสะกดตัวหน้าออก เช่น อัตภาพ หัถกัม ทุข อัคราชฑูต รัถบาล เสถกิจ แต่ถ้าตัวหลังมีสระกำกับ ไม่ต้องตัดตัวสะกดออก เช่น อัคคี สัทธา
8.
ไม้ไต่คู้ ใช้เฉพาะในกรณีที่ออกเสียงสั้น เช่น เย็บ เบ็ด เห็น ถ้าไม่ใช้อาจมีความหมายเป็นอย่างอื่น คำที่มาจากบาลีสันสกฤตก็ไม่ใช้ไม่ไต่คู้ เช่น เบญจ เพชร เวจ คำที่มาจากภาษาต่างประเทศที่จำเป็นให้คงใช้ได้ เช่น เช็ค
9.
คำ กระ ให้เขียน กะ เช่น กระจ่าง กระทิ เป็น กะจ่าง กะทิ
10.
คำที่ถอกจากภาษาต่างประเทศ ให้เขียนตามเสียงเป็นหลัก เช่น ตำรวจ เป็นตำหรวด กำธร เป็น กำทอน
เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ในปี พ.ศ. 2487 ก็ได้ประกาศยกเลิกการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น และกลับไปใช้หนังสืออย่างเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลง
การพัฒนาตัวเขียนในปัจจุบัน

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตำราและวิธีการเรียนการสอนได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก การสอนภาษาไทย ยังใช้แบบเรียนเร็วเล่มต้นของ นายฉันท์ ขำวิไล ต่อมาใช้ของ พระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์ ซึ่งนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ยังต้องเรียนตัวพยัญชนะ และสระทุกตัว และหัดผันอักษร ผันสระ ผันวรรณยุกต์
ในปี พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการได้นำการสอนภาษาไทยแบบเบสิกมาใช้ แบบเรียนได้เปลี่ยนไป เป็นการสอนให้อ่านเป็นคำ ๆ เป็นเรื่องราว ไม่ได้สอนพยัญชนะเป็นตัว ๆ และสอนการผันแบบเดิม เป้าหมายการสอนแบบใหม่นี้ยังกำกวมอยู่ ความแม่นยำในตัวหนังสือ ในการอ่านและในการเขียนหนังสือไทย เรายังพูดไม่ได้ว่าจะดีกว่าแบบเดิม
เครื่องมือเครื่องใช้ในการเขียนก็เปลี่ยนไปมาก การเปลี่ยนเครื่องมือเขียนทำให้รูปตัวหนังสือเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามลายมือที่ถือเป็นทางการในขณะนี้ ถือว่าลายมือไทยที่สวยงาม ใช้เขียนเป็นลายมือเพื่อเกียรติยศต่าง ต้องเขียนด้วยตัวอาลักษณ์
ตัวพิมพ์ไทย
ตัวหนังสือไทยได้สร้างเป็นตัวพิมพ์ และจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2356 โดยมิชชันนารีอเมริกา ตัวพิมพ์ไทยที่ออกแบบขึ้นมานี้ คงอาศัยเชลยศึกชาวไทยในย่างกุ้ง ที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า ตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2310 และได้มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ การนำตัวหนังสือไทยมาปรับปรุงเป็นรูปตัวพิมพ์ ทำให้รูปตัวหนังสือไทย มีความแน่นอนและสวยงามขึ้นตามลำดับ
โครงสร้างของตัวหนังสือไทย
ยังไม่มีการค้นคว้าในรายละเอียด อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตที่น่าจะนำไปสู่ทางค้นคว้าต่อไป พอประมวลได้ดังนี้
1.
ตัวหนังสือไทยมีเส้นเสมอกันหมด ไม่มีหนา บาง อาจจะเนื่องจากการเขียนหนังสือไทย แต่เริ่มแรก ใช้โลหะแหลมขูดลงบนศิลา เส้นจึงคมและสม่ำเสมอกัน การจารลงบนใบลานก็ทำนองเดียวกัน
2.
ตัวหนังสือไทยมีหัวกลมเกือบทุกตัว หัวกลมนี้ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นสมัยใด เพราะลายสือไท ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์ขึ้นนั้น ไม่มีหัวกลม อย่างไรก็ตามหัวกลมทำให้หนังสืไทย สวยงามมากขึ้น อ่านง่ายขึ้น และเป็นเอกลักษณ์พิเศษ ไม่มีหนังสือชาติใดมี หัวกลมเป็นจุดเริ่มต้น ของการเขียนหนังสือไทยแต่ละตัว พยัญชนะไทย 44 ตัว มีเพียงสองตัวเท่านั้นที่ไม่มีหัวกลมคือ ก และ ธ
ตัวหนังสือไทยมีอายุมาแล้วกว่า 700 ปี ได้มีการพัฒนามาตามลำดับ นับเป็นมรดกล้ำค่าของ ชนชาวไทย การพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ออกไปนอกกรอบ ไม่เคยประสบผลสำเร็จ แต่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยคงความเป็นเอกลักษณ์ไว้ ทำให้หนังสือไทยมีความวัฒนาถาวร สมประโยชน์ที่บรรพบุรุษไทยเรา ได้สร้างไว้เป็นมรดกแก่ชนชาวไทย ซึ่งจะต้องช่วยกันรักษาไว้ชั่วกาลนาน



ອ້່າວອິງ
http://whatisthai.itgo.com/letter.htm

ไม่มีความคิดเห็น: