วันศุกร์ที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

กว่าจะมาเป็น“ผู้ไท”บนผืนแผ่นดินไทย

กว่าจะมาเป็น“ผู้ไท”บนผืนแผ่นดินไทย



ชี้ชวน - ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยมีความทรงจำที่งดงามกับผู้สาวเชื้อสายผู้ไทแห่งเมืองสกลนครนางหนึ่ง ด้วยความรักและความพิสวาทต่อนางอันเป็นที่รัก ความประทับใจต่อศิลปะและวัฒนธรรมของชาวผู้ไท จึงได้สอบถามและมานะสืบค้นเรื่องราวความเป็นมาของพวกเขา ซึ่งพบว่าช่างน่าประทับใจราวกับเป็นเรื่องของเทพนิยายก็มิปาน กาลต่อมาแม้นว่าจำต้องมีอันจำพราก มิได้ครองคู่กัน แต่ความรู้สึกอันดีงามยังคงบานสะพรั่งอยู่ในหัวใจตราบจนกระทั่งบัดนี้ นี่เป็นความเชื่อและความรู้สึกส่วนตัวนะครับ ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า ผู้เขียนมิได้เล่าเรียนมาทางด้านนี้ หากข้อเขียนมีบกพร่องประการใดต้องขออภัยไว้ด้วย หากมีสิ่งที่ดีอยู่บ้างขออุทิศให้กับชาวผู้ไทผู้แสนดีและความดีงามของผู้สาวผู้ไทนางหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำเสมอมา

เปิดเรื่อง ขอเปิดเรื่องด้วยบทเพลง “หนาวลมที่เรณู” ที่ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ ความยาว ๓.๒๔ นาที [คลิกเปิดเพลง http://img477.imageshack.us/my.php?image=sornkirirenunakornup9.swf] อยากสมมติให้คุณอยู่ในภวังค์ของค่ำคืนอันเหน็บหนาว อ้างว้าง และเปล่าเปลี่ยว อยากจะท้าทายท่านผู้อ่านว่าท่านมีจิตใจที่เข้มแข็งขนาดไหนด้วย intro melody ของบทเพลงนี้ที่มีความยาว ๕๖ วินาที ผมเชื่อว่าจะสะกดคุณให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ดั่งเหมือนต้องมนต์ขลัง บางท่านอาจรู้สึกเหมือนกับว่าเสียงไวโอลินนั้นช่างหวานบาดลึก บางท่านที่มีความหลังฝังใจอาจรู้สึกหนาวจนจับขั้วหัวใจและเหงาจนอยากให้ใครสักคนมาอยู่เคียงใกล้ บางท่านอาจรำลึกถึงใครบางคนที่เก็บซ่อนเร้นไว้ในส่วนลึกที่สุดของหัวใจ เมื่อนั้นขอบหางตาของคุณอาจรื้นชื้นขึ้นมาโดยพลัน

บทเพลงนี้ - กล่าวขานถึงเรื่องราวพิสวาทฝังใจของเจ้าหนุ่มต่างแดนที่ประสบพบรักกับสาวผู้ไทที่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม “เรณูนครถิ่นนี้ช่างมีมนต์ขลัง ได้พบนวลนางดั่งเหมือนต้องมนต์แน่นิ่ง น้องนุ่งซิ่นไหมไว้ผมมวยสวยเพริดพริ้ง พี่รักเจ้าแล้วแท้จริงสาวเวียงพิงค์แห่งแดนอีสาน” แค่ท่อนเเรกของบทเพลงก็บรรยายให้เห็นภาพแล้วว่านางเอกนั้นเป็นใครเเละมีความงดงามเพียงใด ชาติกำเนิดของเธอเป็นผู้สาวเผ่าผู้ไท เป็นที่ทราบกันดีว่าผิวงามและรูปโฉมสะคราญนัก ครูเพลงเหมือนจะสื่อเป็นนัยให้ผู้ฟังจินตนาการว่าพระเอกน่าจะพบกับนางเอกที่งานบุญสักแห่งหนึ่ง เพราะการที่เจ้าหนุ่มต่างแดนจะได้พบกับสาวเจ้าถิ่นในเหตุการณ์ที่สาวเจ้าแต่งชุดซิ่นไหมไว้ผมมวย จนกระทั่งผูกสัมพันธ์กันได้นั้น จะต้องเป็นงานบุญหรืองานมงคลอย่างใดอย่างหนึ่ง



ท่อนที่สอง “เราเคยสัมพันธ์พลอดรักเมื่อคราหน้าหนาว คืนฟ้าสกาวเหน็บหนาวน้ำค้างเหลือนั่น เพราะได้เคียงน้องถึงต้องหนาวตายไม่ไหวาดหวั่น รุ่งลางต้องร้างไกลกันสุดหวั่นไหวก่อนลา” บทเพลงสื่อความหมายออกมาอย่างชัดเจนว่า สัมพันธภาพระหว่างเจ้าหนุ่มต่างแดนกับผู้สาวภูไทคนงามเป็นไปอย่างลึกซึ้ง ถึงขนาดว่าได้ร่วมกันผ่านค่ำคืนอันหนาวเหน็บมาด้วยกัน แล้วมีอันต้องจำพรากจากกันเมื่อยามรุ่งอรุณ ถือว่าเป็นความลุ่มลึกของผู้เขียนบทเพลงที่มิได้ใส่รายละเอียดไปมากกว่านี้ อันเป็นการเปิดช่องให้กับผู้ฟังจินตนาการไปได้หลายทาง และมิได้เป็นประเด็นพาดพิงให้ผู้สาวต้องเสียหาย

ท่อนที่สาม “ผ้าผวยร้อยผืนไม่ชื่นเหมือนน้องอยู่ใกล้ ดูดอุร้อยไหไม่คลายหนาวได้หรอกนา ห่างน้องพี่ต้องหนาวนักอุรา คอยนับวันเวลาจะกลับมาอบไอรักเรา” เป็นความชาญฉลาดของครูเพลงที่ยกเอาเอกลักษณ์ของชนเผ่าผู้ไทมาใช้เปรียบเทียบในเนื้อเพลงว่า ไออุ่นที่ได้รับจากการห่มผ้าผวย (ผ้าห่มของชาวอีสาน) และการดื่มอุ (สาโทดีๆนี่เอง) ว่ามิอาจเทียบได้กับไออุ่นที่ได้รับจากผู้สาว เป็นการตอกย้ำว่าสาว-หนุ่มคู่นี้มีสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งดูดดื่ม จนเชื่อได้ว่า ยามเมื่อจากกันมาไกลแสนไกล ย่อมจะต้องมีความห่วงหาอาวรณ์กันจริงๆ อันมีผลให้บทเพลงนี้ตราตรึงอยู่ในหัวใจของผู้ฟังเพลงตลอดมา

ท่อนส่งท้าย “เย็นลมเหมันต์ผ่านผันยิ่งพาสะท้อน โอ้น้องบังอรก่อนนั้นเคยคลอเคียงเจ้า ครั้งเที่ยวชมงานพระธาตุพนมยามหน้าหนาว พี่ยังไม่ลืมนงเยาว์โอ้เเม่สาวเรณู” ครั้นเหมันตฤดูผ่านมาอีกครา สายลมหนาวพัดมาต้องผิวกาย ถึงกับทำให้เจ้าหนุ่มถวิลหาผู้สาวผู้ไทโฉมสะคราญ พาให้นึกถึงความหฤหรรษ์คราที่เคยคลอเคลียกันที่งานบุญประจำปีฉลองพระธาตุพนม ถ้าหากว่าครูเพลงมิได้กล่าวถึงพระธาตุพนมอันเป็นฉากหลังของมนต์รักที่เกิดขึ้น มนต์ขลังของบทเพลงนี้จะลดลงไปอย่างน่าใจหาย มนต์ขลังชองบทเพลงนี้พออนุมานได้ว่า ตราบเท่าที่พระธาตุพนมยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยอีสานและชาวลาวฝั่งซ้ายเเม่น้ำโขง ตราบนั้นผู้คนที่ถวิลหาความไพเราะจากบทเพลง ”หนาวลมที่เรณู” ย่อมนึกถึงมนต์รักของคู่สาว-หนุ่มที่มีพระธาตุพนมเป็นฉากหลังนั่นแล



กว่าจะมาเป็นผู้ไทบนผืนแผ่นดินไทย
แต่ครั้งกาลนานมาแล้ว มีชนเผ่าที่เรียกตนเองว่า “ผู้ไท” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานเขียนว่า "ผู้ไทย" หรือบางแห่งเขียนว่า “ภูไท”) ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินบนดินแดนทางตอนเหนือของประเทศลาวและเวียตนาม และติดกับตอนใต้ของประเทศจีน ชนเผ่าผู้ไทดังกล่าวมี ๒ พวกคือ ผู้ไทดำที่นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำและสีคราม ครอบครอง ๘ หัวเมือง และผู้ไทขาวที่ชอบแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว ครอบครอง ๔ หัวเมือง รวมเป็นทั้งหมด ๑๒ หัวเมือง จึงได้ขนานนามเเว่นเเคว้นเเห่งนี้ว่า "สิบสองจุไทย" โดยมีศูนย์กลางของการปกครองอยู่ที่เมืองแถง แคว้นสิบสองจุไทนี้ตั้งอยู่ชิดใกล้กับแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของประเทศจีน อันว่าแคว้นสิบสองจุไทนั้นเคยเป็นดินแดนที่อยู่ในความครอบครองของราชอาณาจักรไทยมาช้านานในฐานะเมืองประเทศราช แต่มีอันต้องสูญเสียให้กับประเทศฝรั่งเศสไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ จากกรณีพิพาททางการเมืองระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส เหตุผลเพื่อพิทักษ์รักษาเอกราชของดินแดนส่วนใหญ่สยามประเทศเอาไว้นั่นเอง

การอพยพครั้งแรกของชนเผ่าผู้ไท : การละถิ่นฐานจากเมืองแถง แคว้นสิบสองจุไท
การละทิ้งถิ่นฐานจากบริเวณเมืองแถงของชนเผ่าผู้ไทดำครั้งแรกนั้น มีสาเหตุมาจากการรุกรานของกลุ่มผู้ไทขาว ที่ขยายอำนาจจนสามารถครอบครองหัวเมืองได้ถึง ๑๑ หัวเมือง พร้อมทั้งประกาศตนไม่ยอมขึ้นกับเมืองแถง ส่งผลให้ผู้ไทดำต้องอพยพลงสู่ดินแดนที่ราบสูงทางตอนใต้เรียกว่า “หัวพันทั้งห้าทั้งหก” อันมีเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูเป็นหัวเมืองหลัก ครั้นต่อมาต้องประสบปัญหาขัดเเย้งกับชนพื้นเมืองเดิม และทุพภิกภัยที่เกิดจากฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลก่อให้เกิดความแห้งแล้ง จึงได้อพยพอีกครั้งมาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณที่ราบเชียงขวาง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว) โดยมีเมืองเชียงขวางเป็นศูนย์กลาง ผู้ไทดำได้ทำมาหากินอย่างสงบสุขเป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๒๐๐ ปี



ลุถึง พ.ศ. ๒๓๒๑ - ๒๓๒๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระบัญชาให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) นำทัพไทยสองหมื่นคนไปตีหัวเมืองลาวตั้งแต่นครจำปาศักดิ์จนถึงนครเวียงจันทน์ กองทัพไทยล้อมเวียงจันทน์ราว ๔ เดือนเศษ จึงสามารถตีหักเอานครเวียงจันทน์ได้สำเร็จ หลังจากนั้นทางการของไทยได้ผนวกประเทศลาวทั้งหมดเป็นเมืองประเทศราช ในการศึกครั้งนี้เมืองหลวงพระบางได้ส่งกองทัพมาช่วยไทยตีเวียงจันทน์ด้วย ภายหลังจากตีกรุงเวียงจันทน์แตก ฝ่ายไทยได้ให้กองทัพหลวงพระบางเคลื่อนพลไปตีหัวเมืองทางด้านตะวันออกของหลวงพระบาง อันมีผู้ไทดำครองเมืองอยู่คือเมืองทันต์และเมืองม่วย สมเด็จพระเจ้าตากสินรับสั่งให้กวาดต้อนผู้ไทดำ (ลาวทรงดำ) เหล่านี้ไปตั้งบ้านเรือนที่เมืองเพชรบุรี (บางส่วนน่าจะย้ายไปอยู่ที่ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรีและบางจังหวัดในภาคกลาง เรียกกันว่าลาวโซ่ง) ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ผู้ไทขาวส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่เมืองแถงในแคว้นสิบสองจุไท จึงไม่ได้ถูกกวาดต้อนมาด้วย ผู้ไทดำจากสองเมืองนี้นับว่าเป็นผู้ไทระลอกแรกที่ถูกกวาดต้อนเข้าสู่ประเทศไทย (เป็นกลุ่มที่มิได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่ภาคอีสาน) นับว่าเป็นกุศโลบายที่สำคัญของฝ่ายชนะศึกที่จำต้องการกวาดต้อนผู้คนของฝ่ายแพ้ศึกมาด้วย เพื่อเป็นการตัดทอนมิให้ฝ่ายพ่ายศึกสามารถซ่องสุมรี้พลขึ้นมาแข็งข้อในภายหน้าได้ อีกทั้งเชลยศึกที่กวาดต้อนมานั้นก็นำมาปูนบำเหน็จให้กับเเม่ทัพนายกองที่มีความดีความชอบ เพื่อให้ไปช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมืองกันต่อไป

การอพยพระลอกที่สอง : จากเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูเข้าสู่เมืองวัง
“ท้าวก่า” หัวหน้าของผู้ไทยดำได้เกลี้ยกล่อมชาวผู้ไทดำราวหมื่นคนเศษ ให้อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของเจ้าอนุวงศ์หรือเจ้าอนุรุธแห่งนครเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ได้โปรดให้ไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองวัง อันเป็นพื้นที่ป่าดงและมีภูเขาตามที่ชาวภูไทยถนัดทำกินในการปลูกข้าวไร่และทำสวนผลไม้ ต่อมาท้าวก่าและสมัครพรรคพวกได้เแย่งชิงอำนาจในการปกครองเมืองวังกับชนพื้นเมืองเดิมคือ “พวกข่า” โดยทำการเสี่ยงบุญวาสนาแข่งขันยิงลูกหน้าไม้ให้ติดหน้าผา ปรากฎผลว่าลูกหน้าไม้ของฝ่ายท้าวก่าซึ่งติดขี้สูดสามารถยิงติดหน้าผาได้ชัยชนจากการประลอง (ท้าวหนู น้องชายของท้าวก่าเป็นผู้แสดงฝีมือ) แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่เหนือกว่าของชนเผ่าผู้ไท ท้าวก่าได้รับการแต่งตั้งเป็น “พญาก่า” ปกครองเมืองวังขึ้นตรงต่อเวียงจันทน์ ทั้งนี้ต้องส่งพร้า มีดโต้และขวาน เป็นเครื่องบรรณาการต่อกรุงเวียงจันทน์ปีละ ๕๐๐ เล่ม และต้องส่งขี้ผึ้งหนัก ๒๕ ชั่ง เป็นบรรณาการแก่เจ้าเมืองญวนด้วย



ลุถึง พ.ศ. ๒๓๓๕ - ๒๓๓๘ (ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เมืองแถงและเมืองพวนได้เเข็งข้อ กองทัพเวียงจันทน์ได้เคลื่อนพลเข้าตีเมืองทั้งสองและได้กวาดต้อนผู้ไทดำและลาวพวน เป็นเชลยส่งมาที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีรับคำสั่งให้ผู้ไทดำไปอยู่ที่เมืองเพชรบุรี แต่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์กล่าวว่า ญวนตังเกี๋ยยกกองทัพมาตีเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๕ เกิดการรบที่เมืองพวน กองทัพญวนถูกทัพฝ่ายเวียงจันทน์ตีแตกไป กองทัพเวียงจันทน์จึงกวาดเอาครอบครัวชาย–หญิงใหญ่น้อยส่งมากรุงเทพฯ สี่พันคนเศษ หลักฐานชิ้นนี้ไม่ได้ระบุชื่อเมืองแถงและเมืองพวนที่ได้แข็งข้อกับเวียงจันทน์ แต่การที่เวียงจันทน์กวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองพวนส่งมายังกรุงเทพฯ อาจเป็นไปได้ว่าเมืองพวนมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ ทางการไทยจึงได้หาทางระงับเหตุโดยชิงกวาดต้อนพวกนี้ตัดหน้าฝ่ายญวนเสียก่อน

การอพยพระลอกที่สาม : จากเมืองวังสู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง
ครั้นปักหลักปักฐานที่เมืองวังได้แล้ว “พญาก่า” ได้บุตรกับนางลาว ๓ คน คือท้าวคำ (ซึ่งตายแต่เล็ก) ท้าวก่ำ และท้าวแก้ว ก็เกิดเรื่องระหองระเเหงในการแต่งตั้งตำแหน่ง พระอุปฮาต (พระอุปราช) กระทั่งพญาก่าสิ้นชีวิต น้องชายคนรองของพญาก่าคือ “ท้าวหนู” ซึ่งเป็นคนที่ยิงลูกหน้าไม้ชนะพวกข่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พญาบุญชุน เจ้าหาญซี่งเป็นน้องชายคนถัดไปได้เป็นเป็น “พระอุปฮาต” ครั้นพญาบุญชุนถึงแก่กรรมแล้ว เจ้าหาญอุปฮาตก็ได้เป็นเจ้าเมืองและได้บรรดาศักดิ์เป็น “พญาลานคำ” เมื่อพญาลานคำถึงแก่กรรม เจ้าวังน้อยบุตรพญาลานคำ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองและได้บรรดาศักดิ์เป็นพญาวังน้อย พญาวังน้อยมีบุตร ๓ คน คือเจ้าแก้ว เจ้าก่า หรือ กล้า และเจ้าเขืองคำ เมื่อพญาวังน้อยสิ้นไปแล้ว เจ้าก่าได้เป็นเจ้าเมืองและได้บรรดาศักดิ์เป็นพญาก่า พญาก่ามีภรรยา ๒ คน คือนางสีดาเป็นชาวผู้ไทมีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ เจ้าน้อย เจ้าลี และเจ้าลุน ส่วนภรรยาคนที่สองเป็นชาวข่าชื่อนางมุลซา มีบุตรด้วยกัน ๑ คน ชื่อ เจ้าก่ำ เมื่อพญาก่าถึงแก่กรรม นางมูลซาเป็นผู้มีอิทธิพลต้องการให้เจ้าก่ำบุตรชายเป็นเจ้าเมืองแทน แต่ชาวผู้ไททั่วไปต้องการเจ้าลีเป็นเจ้าเมือง เพราะมีนิสัยอ่อนโยนโอบอ้อมอารี แตกต่างจากเจ้าก่ำที่มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ชอบ

ท่ามกลางความขัดแย้งของการแย่งชิงอำนาจปกครองเมืองวังกำลังครุกรุ่นอยู่นั้น (ราว พ.ศ. ๒๓๘๔ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประเทศลาวตกอยู่ในสถานะประเทศราชของไทย เมฆหมอกแห่งความยุ่งยากได้ทวีเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากเวียตนามพยายามแผ่อำนาจเข้ามาในลาว เพื่อช่วงชิงประเทศลาวไปจากฝ่ายไทย ชนเผ่าผู้ไทซึ่งถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยของลาวต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเลือกข้าง ยิ่งทำเลที่ตั้งของพวกเขาอยู่ใกล้ชิดกับเขตแดนของเวียตนาม ยิ่งสร้างหวาดระแวงต่อฝ่ายไทยยิ่งขึ้นไปอีกว่าว่าฝ่ายผู้ไทนั้นจะเลือกข้างอย่างไร ในปีนั้นเองพระมหาสงครามแม่ทัพไทยพร้อมด้วยอุปราชแห่งเมืองเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนตามหัวเมืองขึ้นของเวียงจันทน์ ส่งผลให้ชาวผู้ไทในเมืองวังต้องผนึกกำลังกันสู้พลางหนีพลาง จนเข้าไปอาศัยในดินแดนญวน กองทัพไทยเข้าทำลายเมืองวังเสียย่อยยับ หลังจากนั้น “เจ้าราชวงศ์อิน” เชื้อสายเดิมของเมืองมหาชัยกองแก้ว ได้เกลี้ยกล่อมเจ้าลีพร้อมด้วยครอบครัวและไพร่พลชาวผู้ไท ให้อพยพข้ามโขงเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองสกลนคร



ย้อนหลังไปที่ห้วงเวลาระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๙ – ๒๓๗๑ กองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ได้เดินทัพลงใต้ หมายจะมาตีกรุงเทพฯ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เส้นทางเดินทัพของเจ้าอนุวงศ์ต้องมาสะดุดเพียงแค่โคราช พ่ายศึกต่อทัพของย่าโม - ท้าวสุรนารี สถานการณ์พลิกกลับกลายมาเป็นฝ่ายกบฎในเวลาต่อมา ครั้งนั้นฝ่ายไทยได้ระดมพลปราบปรามเจ้าอนุวงศ์อย่างโหดร้าย เผานครเวียงจันทน์เสียราบเรียบ เผาแม้กระทั่งวัดวาอาราม เหลือแต่วัดพระแก้วกับวัดศรีสะเกษเท่านั้น ทรัพย์สินเงินทองและอาวุธยุโธปกรณ์ของเวียงจันทน์ถูกฝ่ายไทยกวาดไปหมด พร้อมทั้งกวาดต้อนราษฎรเวียงจันทน์ไปจนเกือบจะเป็นเมืองร้าง เพราะฝ่ายไทยไม่ต้องการให้เวียงจันทน์ตั้งตัวแข็งข้อเป็นกบฏกับไทยได้อีก ขณะที่ฝ่ายญวนที่ต้องการขยายอำนาจเข้ามายังลาวและเขมร ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือโอบอุ้มเจ้าอนุวงศ์เป็นอย่างดี อันนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างไทยกับรัฐญวนอย่างรุนเเรงในเวลาต่อมา และเป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงในภายหลัง หลังจากเหตุการณ์กบฎเจ้าอนุวงศ์ ฝ่ายไทยมีนโยบายที่จะอพยพชนเผ่าชาวผู้ไทและชนเผ่าอื่นๆจากชายแดนที่ใกล้ชิดติดกับญวนให้มาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้มากที่สุด เพื่อตัดทอนมิให้เป็นกำลังแก่ฝ่ายเวียงจันทน์และฝ่ายญวนอีกต่อไป แต่การอพยพครั้งนี้ยังไม่ใช่การอพยพครั้งใหญ่ที่สุด

การอพยพระลอกใหญ่ที่สุด ของชนเผ่าผู้ไทมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขง เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียตนามอย่างรุนแรง เพราะญวนแทรกแซงกิจการภายในของประเทศลาวและเขมร ซึ่งฝ่ายไทยถือว่าเป็นประเทศราชของไทย จนนำไปสู่สงครามอันยาวนานระหว่างไทยกับญวน สงครามครั้งนั้นทั้งญวนและไทยต้องใช้สรรพกำลังและทรัพยากรไปมาก ฝ่ายไทยได้เกณฑ์ราษฎรจากภาคอีสานจำนวนมากไปเป็นทหารในการสงคราม ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญวนต่างก็แย่งชิงความได้เปรียบโดยการส่งกองกำลังมากวาดต้อนผู้คนจากลาวฝั่งซ้าย ให้ไปตั้งถิ่นฐานในเขตที่ควบคุมได้ง่าย ภาพความเหี้ยมโหดในการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ของทัพไทยระหว่างปี ๒๓๖๙ - ๒๓๗๑ ยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของชาวลาว ต่างพากันเกลียดชังฝ่ายทหารไทย ทำให้ฝ่ายทัพญวนได้เปรียบในระยะเเรก

ครั้นต่อมาญวนได้แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของตน ดังปรากฏในบันทึกเอกสารพื้นเวียง ซึ่งคนลาวบันทึกไว้ดังนี้ “พระเจ้ากรุงแกวจึงให้โดยยี่ไปรักษาเมืองชุมพรไว้ แกว (ญวน) เกณฑ์ผู้คนมา สร้างค่ายคูเมือง ปลูกตำหนักน้อยใหญ่ผู้คนทิ้งไร่นา เพราะถูกเกณฑ์ชาวเมืองพอง ชุมพร พะลาน สะโปน (เซโปน) อดอยากข้าวยากหมากแพง เพราะเมืองแตกผู้คนยังไม่ได้ทำนาต้องกินหัวมันแทนข้าว แกวยังข่มเหงให้ตัดไม้สร้างเมือง สร้างค่ายคู เมื่อสร้างเสร็จแล้วจัดเวรเฝ้าด่านเสียส่วยทั้งเงินทอง ควาย ช้าง ผึ้ง ผ้า เครื่องหวาย ทุกสิ่งใส่เรือส่งเมืองแกว จนชาวเมืองอดอยาก ร้างไร่ ร้างนา เขาก็ค่อยพากันหนีแกวมาพึ่งลาวทีละน้อยไม่คิดจะอยู่เป็นเมืองต่อไป พวกที่หนีไม่พ้นก็อยู่ที่นั้นบางพวกก็เป็นไข้ลงท้องตาย” จนเกิดกระแสตีกลับหันมาเลือกข้างฝ่ายไทย ผลสืบเนื่องจากการสงครามครั้งนี้ทำให้เกิดการอพยพชาวผู้ไทและชนเผ่าอื่นๆจากลาวฝั่งซ้ายครั้งใหญ่ที่สุดข้ามโขงมายังฝั่งขวา ทางการไทยกำหนดให้ชนเผ่าผู้ไทและเผ่าต่างๆที่อพยพมาในคราวนี้ พำนักพักพิงที่เมืองกาฬสินธิ์ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร จนได้สร้างบ้านแปลงเมืองอยู่กันอย่างสันติสุขตราบจนกระทั่งทุกวันนี้



หลังจากนั้นทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้า ยกฐานะชุมชนที่ชาวผู้ไทมาตั้งถิ่นฐานให้ขึ้นเป็นเมือง และโปรดเกล้าให้หัวหน้าของแต่ละกลุ่มได้บรรดาศักดิ์ในตำแหน่งเจ้าเมือง ดังนี้

เมืองเรณูนคร ตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวัง มีนายไพร่รวม ๒๖๔๘ คน ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวสาย เป็น "พระแก้วโกมล" เจ้าเมืองคนแรก ยกบ้านบุ่งหวายขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร ขึ้นต่อเมืองนครพนม คือ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ในปัจจุบัน

เมืองพรรณานิคม ตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ เป็นชาวผู้ไทยอพยพมาจากเมืองวัง จำนวนสองพันกว่าคน ไปตั้งอยู่ที่บ้านผ้าขาวพันนา ตั้งขึ้นเป็นเมืองพรรณานิคม ขึ้นกับเมืองสกลนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวโฮงกลาง เป็น "พระเสนาณรงค์" เจ้าเมืองคนแรก ต่อมาได้ย้ายเมืองพรรณานิคมไปตั้งที่บ้านพานพร้าว คือท้องที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน

เมืองกุฉินารายณ์ ตั้งในสมัยราชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวังจำนวน 3443 คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านกุดสิม ตั้งขึ้นเป็นเมือง "กุฉินารายณ์" ขึ้นเมืองกาฬสินธิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ราชวงษ์เมืองวัง เป็น "พระธิเบศรวงษา" เจ้าเมืองกุฉินารายณ์ อ.เขาวง จ.กาฬสินธิ์

เมืองภูแล่นช้าง ตั้งในสมัยราชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวังจำนวน 3023 คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านภูแล่นช้าง ตั้งขึ้นเป็นเมือง "ภูแล่นช้าง" ขึ้นเมืองกาฬสินธิ์ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หมื่นเดชอุดมเป็น "พระพิชัยอุดมเดช" เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือท้องที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธิ์



เมืองหนองสูง ตั้งในสมัยราชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวังและเมืองคำอ้อคำเขียว (อยู่ในแขวงสุวรรณเขต ดินแดนลาว) จำนวน ๑๖๕๘ คน ตั้งอยู่บ้านหนองสูงและบ้านคำสระอี ในดงบังอี่ (คำสระอีคือหนองน้ำในดงบังอี่ ต่อมากลายเป็น คำชะอี) ตั้งเป็นเมืองหนองสูง ขึ้นเมืองมุกดาหาร ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวสีหนาม เป็น "พระไกรสรราช" เจ้าเมืองคนแรก เมืองหนองสูงในอดีตคือท้องที่ อ.คำชะอี (ตั้งแต่ห้วยทราย), อ.หนองสูงและท้องที่ อ.นาแก จ.นครพนมด้วย

เมืองเสนางคนิคม ตั้งในสมัยราชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองตะโปน (เซโปน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในแขวงสุวรรณเขต ติดชายแดนเวียตนาม อพยพมา ๙๔๘ คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านส่องนาง ยกขึ้นเป็นเสนางคนิคมขึ้นเมืองอุบลราชธานี ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวจันทร์จากเมืองตะโปน เป็น "พระศรีสินธุสงคราม" เจ้าเมืองคนแรก ต่อมาได้ย้ายไปตั้งเมืองที่บ้านห้วยปลาแดกและเมื่อยุบเมืองลงเป็นอำเภอเสนางคนิคม ย้ายไปตั้งอำเภอที่บ้านหนองทับม้า คือ ท้องที่อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญในปัจจุบัน

เมืองคำเขื่อนแก้ว ตั้งในสมัยราชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวัง จำนวน ๑๓๑๗ คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านคำเขื่อนแก้วเขตเมืองเขมราฐ ตั้งขึ้นเป็นเมืองคำเขื่อนแก้ว ขึ้นเมืองเขมราฐ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวสีหนาท เป็น "พระรามณรงค์" เจ้าเมืองคนแรก เมื่อยุบเมืองคำเขื่อนแก้วได้เอานามเมืองคำเขื่อนแก้วไปตั้งเป็นชื่ออำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่ที่ตำบลลุมพุก คือ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน ส่วนเมืองคำเขื่อนแก้วเดิมที่เป็นผู้ไทย ปัจจุบันเป็นตำบลคำเขื่อนแก้ว อยู่ในท้องที่อำเภอชานุมาน จ.อำนาจเจริญในปัจจุบัน

เมืองวาริชภูมิ ตั้งในสมัยราชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองกะปอง ซึ่งอยู่ในห้วยกะปอง แยกจากเซบั้งไฟไหลลงสู่แม่น้ำโขงในแขวงคำม่วนฝั่งลาว จึงมักนิยมเรียกผู้ไทยเมืองวาริชภูมิว่า "ผู้ไทยกระป๋อง" ผู้ไทยเมืองกระปองไปตั้งอยู่ที่บ้านปลาเปล้า แขวงเมืองหนองหาร จึงตั้งบ้านปลาเปล้า ขึ้นเป็น "เมืองวาริชภูมิ" ขึ้นเมืองหนองหาร ต่อมาได้ย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านนาหอย เขตเมืองสกลนคร จึงให้ยกเมืองวาริชภูมิไปขึ้นเมืองสกลนคร คือ ท้องที่อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวพรหมสุวรรณ์ เป็น "พระสุรินทร์บริรักษ์"

เมืองจำปาชนบท ตั้งเมื่อรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพจากเมืองกะปอง ตั้งอยู่ที่บ้านจำปานำโพนทอง ตั้งขึ้นเป็นเมืองจำปาชนบท ขึ้นเมืองสกลนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวแก้วเมืองกะปอง เป็น "พระบำรุงนิคม" เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือท้องที่อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร



บทส่งท้าย
จากถิ่นเดิมที่เมืองแถงแห่งเเคว้นสิบสองจุไท ผองพี่น้องผู้ไทได้เดินทางหลายร้อยกิโลเมตร ผ่านกาลเวลาหลายร้อยปี ผ่านสถานการณ์การเมืองที่พลิกไปพลิกมาจากหลายฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งลาว สยาม ญวน และฝรั่งเศส บางครั้งมีความยุ่งยากในการเลือกข้าง ด้วยวิถีชีวิตของชนเผ่าที่ต้องการดำรงชีพอย่างสงบสุข ในที่สุดก็ฝ่าฟันความยากลำบากต่างๆมาได้ จนได้มาพบนิวาสสถานอันสงบสุขบนผืนแผ่นดินไทย และเป็นคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ ยังคงสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามมาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

แหล่งอ้างอิง
http://revival.snru.ac.th/race/3.htm
http://www.surinmajestic.net/index.p....=332907
http://www.isangate.com/entertain/dance_074.html#3pao

ได้จาก
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=konrakya&date=30-03-2007&group=1&gblog=7

ไม่มีความคิดเห็น: