วันศุกร์ที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ความเป็นมาของชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง





'ชาวไทยทรงดำ เป็นชนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณดินแดนสิบสองจุไทยในเวียดนามเหนือปัจจุบัน คนไทยมักเรียกพวกเขาว่า 'ลาวโซ่ง' หรือ 'ไทยโซ่ง' เนื่องจากอพยพผ่านมาทางประเทศลาว ซึ่งคำว่า โซ่ง เป็นคำที่ถูกเรียกตามชุดแต่งกายเพราะนุ่งส่วงดำหรือกางเกงสีดำ ปัจจุบันนิยมเรียกว่า 'ไทยทรงดำ'

ครั้งอดีตสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี(พ.ศ. 2322) ได้กวาดต้อนไทยดำพร้อมลาวในเวียงจันทน์และเมืองพวนมาอยู่ที่ธนบุรี ต่อมารัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ลาวเวียงอยู่ที่ จ.ราชบุรี ลาวพวนอยู่ที่ธนบุรี และให้ไทยทรงดำไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี และสืบลูกหลานมาเป็นไทยทรงดำเมืองเพชร ซึ่งตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ในเขตอำเภอเมือง บ้านแหลม บ้านลาด ท่ายาง หนองหญ้าปล้อง แต่ที่หนาแน่นที่สุดคือที่อำเภอเขาย้อย แถบบ้านห้วยท่าช้าง, หนองปรง, หนองจิก, ทับคาง, ดอนทราย และหนองชุมพล

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้อิทธิพลจากภายนอกจะเข้ามาครอบงำมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวไปตามยุคสมัย แต่ชาวไทยทรงดำรุ่นก่อนๆ ยังคงดำเนินวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและรักษาประเพณีเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการแต่งกาย อีกทั้งยังพยายามสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามสู่ลูกหลานคนรุ่นใหม่ ไม่ให้ถูกกลืนไปตามกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ จนหลงลืมรากเหง้าของตนเอง

นายพนัส ล้วนเมือง กำนันตำบลหนองปรง จ.เพชรบุรี เล่าว่า ปู่ย่าตายายเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อมาถึงเมืองเพชรบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2322 ได้อพยพจากบ้านท่าแร้งมาอยู่ที่บ้านหนองปรง จ.เพชรบุรี จนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่วิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำบ้านหนองปรงมีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากแหล่งที่อยู่เดิมของพวกเรา ตั้งแต่การทำไร่ ทำนา ถือเป็นอาชีพหลักของชาวไทยทรงดำ ส่วนวิถีชีวิตด้านอื่นๆ เช่น เรื่องเครื่องนุ่งห่ม การแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ยังคงรักษาและสืบทอดจากบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน แต่พวกเราเริ่มมามีวัฒนธรรมใหม่เกิดขึ้น โดยการนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผีบรรพบุรุษ จากเมื่อก่อนจะนับถือผีบรรพบุรุษอย่างเดียว


"การนับถือผีบรรพบุรุษเกี่ยวโยงในด้านความเชื่อ เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมา เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การดำรงอยู่ของชาวไทยทรงดำสูญเสียวัฒนธรรมไปช้าที่สุด มีวัฒนธรรมเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ซึ่งพิธีเสนเรือนหรือพิธีเซ่นผี นิยมทำ 2-3 ปีต่อครั้ง จะยกเว้นเฉพาะเดือน 9 และ เดือน 10 เท่านั้นที่จะไม่มีการประกอบพิธีเซ่นผี ส่วนใหญ่พิธีเสนเรือนจะทำ 3 วัน ซึ่งนอกจากถือผีก็จะมีวัฒนธรรมในด้านการสังสรรค์รื่นเริง การไปมาหาสู่กับญาติพี่น้อง

สัญลักษณ์การแต่งกายของไทยทรงดำ จะเห็นชัดเจนว่า ใช้เสื้อแบบเดียวกัน ส่วนใหญ่จะใช้สีขาวและสีดำ ใช้สีอื่นเพียงให้สวยงาม ผู้หญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นลายแตงโม และมวยผมเกล้าไว้บนศรีษะ ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างจากคนไทยหรือคนเชื้อสายอื่นๆ ทั่วไป

ส่วนภาษาพูดที่ใช้โต้ตอบกัน ก็เป็นภาษาไทยดำ ที่มีลักษณะเฉพาะ ส่วนภาษาเขียนมีคนรู้เรื่องภาษาเขียนน้อยมาก

กำนันพนัส บอกเพิ่มเติมว่า อยากให้วิถีชีวิตชาวไทยทรงดำคงความเป็นอยู่อย่างนี้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และสิ่งที่สำคัญที่สุดอยากให้ชาวไทยทรงดำหรือคนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องภาษาก่อนแล้วอย่างอื่นจะตามมา รวมทั้งอยากให้ภาครัฐผลักดันเรื่องการสื่อสารให้มากขึ้น ที่ผ่านมาพวกเราทำกันเองในลักษณะให้วัฒนธรรมคงอยู่ แต่ไม่มีงบประมาณใดๆ มาเสริมสร้าง

ในส่วนขององค์กรท้องถิ่น เช่น อบต. สภาวัฒนธรรม สมาคมไทยดำแห่งประเทศไทย ต่างพยายามร่วมกันผลักดัน แต่การผลักดันให้เป็นรูปธรรมค่อนข้างยาก เพราะความเป็นอยู่ในปัจจุบันต้องต่อสู้เรื่องปากเรื่องท้องกันมากขึ้น แต่ก็ได้หารือกับโรงเรียนวัดหนองปรง อยากให้นักเรียนได้ซึมซับความเป็นไทยดำ โดยเริ่มที่การแต่งกาย ตามด้วยเรื่องภาษา จากนั้นการค้นคว้าอะไรต่างๆ ก็จะตามมา อาจจะบรรจุเป็นหลักสูตรของโรงเรียนต่อไปในอนาคต

"เรื่องนี้เป็นเรื่องยากพอสมควรเพราะสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันถูกกลืนไปมากแล้ว การสืบสานวัฒนธรรมที่ดีที่สุดคือการฝังรกรากให้คนได้รักและเข้าใจในเผ่าพันธุ์ให้มากที่สุด คือ เริ่มจากเด็ก ผมได้ถ่ายทอดเรื่องภาษา โดยเรามีเอกสารต่างๆ เป็นสื่อให้ศึกษาค้นคว้า ถ้าเราเริ่มจากตรงนี้ก่อนก็จะสามารถนำไปสู่การปรับความเข้าใจเรื่องความเชื่อ การแสดง ความเป็นอยู่วิถีชีวิตของพวกเรา"

ด้านนางถนอม คงยิ้มละมัย อดีตอาจารย์โรงเรียนเขาย้อยวิทยา หรือ หัวหน้าศูนย์ไทยทรงดำ โรงเรียนเขาย้อยวิทยาเล่าว่า ครูได้สอนเด็กๆ เขียนภาษาไทดำ ภาษาพูดไทดำ เช่น คำกล่อมเด็ก รำเยาะเย้ย แต้มสะดือ เล่นอึ่งอ่างให้เด็กนั่งบนหลังเท้าแล้วโยกไปโยกมา เด็กก็กลับไปเล่นกับน้อง พอไปเจอกับผู้ปกครองเขาก็จะมาเล่าให้ฟังว่าลูกเขากลับไปสืบค้นว่าอึ่งอ่างคืออะไร หรืออะไรต่างๆ ที่เราให้ทำเป็นการบ้าน คนแก่ที่อยู่บ้านเฉยๆ เด็กๆ ก็เข้าไปพูดคุยด้วยสืบค้นเรื่องเก่าแก่ ทำให้คนแก่มีคุณค่าทางสังคมมากขึ้น มีคุณภาพจิตที่ดีขึ้น เป็นการสร้างเยาวชนที่ถูกรูปแบบ เมื่อเด็กรักวัฒนธรรมแล้วจิตใจก็จะอ่อนโยน ทุกวันนี้เด็กเขียนเป็นอักษรไทดำได้ เวลากลับไปบ้านเหนื่อยๆ ไปตรวจการบ้านเด็กๆ แล้วก็หายเหนื่อย

ครูถนอม กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่อยากจะฝากไว้ คือ เด็กๆ อย่าได้อายที่เกิดมาเป็นไทยทรงดำ เราต้องภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและร่วมกันสืบสานต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
"เฮาอยู่ดีซำนกเอี้ยง เฮาอยู่เสี้ยงซำตะเว็น เฮาอยู่เย็นซำน้ำบ่อ"...ถ้ารักษาวัฒนธรรมไทยทรงดำเราก็จะอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

วิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างชาวไทยทรงดำแห่งบ้านหนองปรง จ.เพชรบุรี ที่ประกาศตัวตนในการที่จะผนึกความรัก ความสามัคคี โดยใช้วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัย สร้างชุมชน เป็นการสร้างหน่ออ่อนของสังคมไทยจากวัฒนธรรมอันงดงาม

ขอขอบคุณ ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)พอช.

www.codi.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=92&Itemid=43 - 26k -

ได้จาก
http://www.thaisongdumphet.is.in.th/?md=content&ma=show&id=1

ไม่มีความคิดเห็น: