วันศุกร์ที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ฮีตคลองประเพณี


ฮีตคลองประเพณี (ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.lannaworld.com/nation/thaidam.htm )

ประเพณีการเกิด

นับตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงวันคลอด ผู้เป็นแม่คงทำงานตามปกติไม่มีการพักผ่อน โดยเชื่อว่าการออกใช้แรงงานนั้นจะทำให้คลอดลูกง่าย เมื่อมีอาการเจ็บท้องก่อนคลอดจะทำพิธีเซ่นผีเรือนเรียกว่า "วานขวัญผีเรือน" การประกอบพิธีกรรมให้หมอขวัญเป็นผู้ทำพิธีฆ่าไก่ ๑ ตัว เซ่นให้ผีญาติพี่น้องที่ตายทั้งกลมหรือตายในขณะคลอดลูกกินก่อน เพื่อไม่ให้มารังควาญรบกวนในขณะคลอด เมื่อเด็กคลอดพ้นจากครรภ์มารดาแล้ว ก็จะตัดสายรกซึ่งเรียกว่าสายแห่ยาวประมาณ ๒ ข้อมือ อาบน้ำเด็กน้อยด้วยน้ำอุ่น แล้วนำไปวางไว้ในกระด้ง รอจนกระทั่งสายรกหลุดออกมา เมื่อสายรกหลุดพ้นออกจากครรภ์แล้วนำไปล้างบรรจุใส่กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้แล้วนำไปแขวนที่คบไม้ใหญ่ในป่าบั้งแห่ซึ่งเป็นป่าสำหรับทิ้งรกเด็กแรกเกิด โดยแขวนสูงจากพื้นดินระดับเสมอศีรษะคนเดินผ่าน ส่วนแม่ก็ให้ล้างชำระทำความสะอาดร่างกายเล็กน้อยแล้วนั่งอยู่ไฟเรียกว่า "อยู่กำเดือน" เมื่อถึงเตาไฟให้หันหน้าเข้าหาเตาไฟ เอามือควักเขม่าควันไฟมากิน หลังจากนั้นดื่มน้ำร้อนอยู่ไฟและอาบน้ำร้อนที่ต้มผสมใบไม้ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านจนครบเดือน
การอยู่กำหรืออยู่ไฟ ภายหลังคลอดเริ่มอยู่ไฟตั้งแต่วันแรกเป็นเวลา ๓๐ วัน ในระยะแรก การอยู่ไฟจะนั่งอยู่ที่เตาไฟตลอดเวลา ๓ วัน เรียกว่า "อยู่กำไฟ" แม่กำเดือนหรือหญิงที่อยู่ไฟจะต้องระมัดระวังเรื่องอาหาร รับประทานได้แต่ข้าวเหนียวนึ่งกับเกลือคั่วหรือเกลือเผาจนครบ ๓ วัน จึงจะ"ออกกำไฟ" ในระยะนี้จะมีญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดมาเยี่ยมเยือนและอยู่เป็นเพื่อนตลอดเวลา เมื่อออกกำไฟแล้ว ให้ไปสระผมที่ท่าน้ำแต่จะไม่อาบน้ำ ใช้ผ้ารัดเอวไว้ผืนหนึ่งพร้อมกับคาด"ผ้าฮ้ายฝั้นใต้ไฟ"(ชุดติดไฟ) ทับไว้อยู่ข้างนอกเพื่อให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย เมื่อกลับมาถึงเรือนแล้วทำพิธีเซ่นผีย่าไฟโดยใช้ไข่ไก่ ๑ ฟอง ไปวางไว้ตรงที่ทารกคลอด ทำพิธีสู่ขวัญให้แก่เด็กน้อย สู่ขวัญนมและสู่ขวัญที่นอนเพื่อขอให้ช่วยดูแลกรักษาและเลี้ยงดูเด็กน้อยที่เกิดใหม่ ส่วนแม่ใช้ไก่ต้ม ข้าวต้ม ขนม จัดใส่สำรับทำพิธีสู่ขวัญ หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลากลางคืนก็ให้แม่และเด็กน้อยย้ายไปนอนบริเวณที่นอนตามปกติ แต่ผู้เป็นแม่จะต้องอยู่ไฟ ต่อไปจนกระทั่งครบ ๓๐ วัน จึงออกจาก"อยู่กำเดือน"
อาหารการกิน ในเวลาอยู่ไฟจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ทั่วไป มีแต่ผักและปลาบางชนิด เช่น ปลาคิง ปลาแก้ม โดยนำมาปิ้งเมื่อครบ ๒๐ วัน ฆ่าเป็ด ๑ ตัว ทำพิธีเซ่นผีเต่ท่า จากนั้นจึงเริ่มรับประทานเนื้อสัตว์ได้ โดยเริ่มจากเป็ดก่อนต่อมาเป็นไก่ หมู ปลาย่าง ปลาไหลย่าง ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อวัว เนื้อควาย จนกว่าจะออกจากกำเดือน โดยเฉพาะเนื้อควายเผือกห้ามรับประทานเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีอาการแสลงอาจถึงตายได้

ความเชื่อของลาวโซ่ง

ส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องผี และขวัญอยู่มาก เชื่อว่าผีนั้นเป็นเทพยดาที่ให้ความคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผีเรือน หากทำสิ่งไม่ดีจะเป็นการผิดผี ซึ่งผีเรือนอาจจะลงโทษได้

ลาวโซ่งมีการนับถือผี
การนับถือผีจะ มีการบวงสรวงผีเป็นประจำ เช่น ผีบรรพบุรุษ ที่มุมหนึ่งในบ้านจะใช้เป็นที่บูชาผีบรรพบุรุษ เรียกว่า “กะล่อหอง” นอกจากนี้ยังมีการนับถือ “แถน” คือผู้ให้คุณและโทษ
ผีแถนหรือผีฟ้า เชื่อว่าเป็นเทวดาอยู่บนฟ้า สามารถบันดาลความเป็นไปแก่มนุษย์ทั้งด้านดีและด้านร้าย ต้องปฎิบัติตนให้ถูกต้องตามความประสงค์ของแถน เพื่อจะได้รับความเมตตาได้รับความสุข
ผีบ้านผีเรือน เป็นผีที่คุ้มครองป้องกันบ้านเรือนให้ร่มเย็นเป็นสุขและอุดมสมบูรณ์ อาจสิงสถิตอยู่ตามป่า ภูเขาหรือต้นไม้บางแห่ง ก็สร้างศาลให้อยู่บริเวณที่มีหลักเมือง ถือว่าเป็นเขตหวงห้ามใช้เฉพาะการประกอบพิธีเซ่นไหว้ หรือที่เรียกว่า เสน เท่านั้น ส่วนผีประจำหมู่บ้านให้อยู่ต่างหากเรียกว่สา ศาลเจ้าปู่ หรือศาลตาปู่ และต้องทำพิธีเซ่นไหว้ทุกปี
ผีบรรพบุรุษ เป็นผีของปู่ย่า ตายาย หรือพ่อแม่ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว จะถูกเชิญขึ้นไว้บนเรือน ณ ห้องผีเรือน หรือห้องของบรรพบุรุษที่เรียกว่า กะล่อท่อง และต้องจัดพิธีเซ่นไหว้ทุกปี เรียกว่า พิธีเสนเรือน
ผีป่าขวง และผีอื่น ๆ ที่สถิตอยู่ตามป่า ภูเขา แม่น้ำ หรือสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งหากคนทำให้ไม่พอใจก็อาจลงโทษให้เจ็บป่วยได้เช่นกัน

ความเชื่อในเรื่องขวัญ

เชื่อว่าแถนเป็นผู้สร้างให้มนุษย์มาเกิด และมีขวัญแต่ละคนติดตัวมาอยู่ในร่างกายรวม ๓๒ ขวัญ ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวทำงานได้ ขวัญอาจตกหล่นหรือสูญหายได้ง่าย ถ้าตกใจหรือเจ็บป่วยขวัญจะไม่อยู่กับตัว จึงต้องทำพิธีเรียกขวัญ หรือสู่ขวัญ เพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่ในร่างกายอย่างปกติสุขตามเดิม

ขับมด
เป็นจารีตในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของไทดำกล่าวคือ เมื่อมีคนเจ็บป่วยเรื้อรังในครอบครัว รักษาด้วยหมอยาพื้นเมืองแล้วไม่หาย สามีภรรยาหรือญาติของผู้ป่วยจะไปหา "หมอเหยา" มาเสกเป่าเยียวยาแก้ไข ถ้ายังไม่หายก็จะไปเชิญหมอมดมาทำพิธีรักษาหมอมดจะรักษาด้วยการขับมดและเสี่ยงทาย เพื่อให้ทราบสาเหตุของการเจ็บป่วย ถ้าหากถูกผีทำก็จะทำพิธีเลี้ยงผีแก้ไขอาการเจ็บป่วย เดิมการรักษาของหมอมดมีค่าคาย(ขึ้นครู) ๒ บี้ แต่ปัจจุบันใช้เงิน ๑,๐๐๐ กีบ เทียน ๘ คู่ ไข่ ๒ ฟอง กระเทียม ๒-๓ หัว ฝ้าย ๑ มัด เกลือ ๑ ห่อ ข้าวสารใส่กะละมัง หวี และปอยผม ๑ ปอย เพื่อถวายให้ผีมด การรักษาเริ่มด้วยการให้ผู้ช่วยหมอมด ๒ คนช่วยกันเป่าปี่ หมอมดจะทำการขับมดเพื่อเชิญผีมดให้มาช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของการเจ็บป่วย โดยสุ่มถามผีมดว่าถูกผีอะไรทำ เช่น ถามว่าถูกผีเรือนทำใช่ไหม แล้วเสี่ยงทายหาคำตอบด้วยการสาดข้าวสารลงบนพื้น ๓ ครั้ง ให้ได้จำนวนคู่-คี่สลับกัน กล่าวคือ ถ้าครั้งแรกได้จำนวนคู่ ครั้งที่สองจะต้องได้จำนวนคี่ และครั้งที่สามได้จำนวนคู่ แสดงว่าผิดผีเรือน ถ้าเสี่ยงทายไม่ได้จำนวนดังกล่าวก็จะเป่าปี่ขับมดต่อไปอีกจนจบคำขับมด แล้วเสี่ยงทายอีกเช่นนี้จนกระทั่งได้จำนวนคู่สลับคี่ตามที่ต้องการ ดังนั้นการขับมดจึงใช้เวลานานอาจใช้เวลาตั้งแต่ตอนบ่ายจนกระทั่งถึงกลางคืน เมื่อทราบถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยว่าถูกผีใดมาทำ หมอมดก็จะให้ญาติผู้ป่วยจัดเตรียมเหล้า อาหาร และสิ่งของสำหรับเซ่นเลี้ยง เพื่อให้เลิกทำแก่ผู้เจ็บป่วย
การรักษาของหมอมดไม่มีข้อห้ามในการรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน แม้ว่าคนป่วยจะนอนอยู่โรงพยาบาล หมอมดทำพิธีรักษาที่บ้านไปด้วยก็ได้ ผู้ร่วมพิธีขับมดได้แก่ ญาติพี่น้องใกล้ชิด เพื่อนบ้านใกล้เคียง รวมทั้งคนในหมู่บ้านจะมาร่วมโดยไม่ต้องบอกกล่าว
ขับมด เป็นการรักษาทางด้านจิตใจ การเชิญหมอมดมารักษาแสดงว่าลูกผัวรักแพง รวมทั้งมีญาติและเพื่อนบ้านมาเยี่ยมเยือนทำให้ผู้ป่วยมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น ซึ่งอาจทำให้หายจากการเจ็บป่วย

การแต่งกายของลาวโซ่ง
การแต่งกายผู้ชายนุ่งกางเกงขาสั้น ปลายแคบเรียวยาวปิดเข่า นุ่งแบบกางเกงจีน เรียกว่า “ส้วงขาเต้น” หรือ “ส้วมก้อม” แปลว่า กางเกงขาสั้น ตัวเสื้อเป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอก ปลายแขนปล่อยกว้างขนาดข้อมือผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินยอดแหลมมีลวดลาย เรียงกันถี่ประมาณ 10-19 เม็ด ตัวสั้นเลยเอวไปนิดหน่อย ตัวเสื้อเย็บเข้ารูปทรงกระสอบ หน้าอกผาย คอตั้ง ด้านข้างตอนปลายผ่าทั้ง 2 ข้าง ใช้เศษผ้า 2-3 ชิ้นตัดขนาดรอยผ่าเย็บติดไปกับรอยผ่า เรียกว่า เสื้อชอน ส่วนผู้หญิงในชีวิตประจำวันจะนุ่งผ้าถุงพื้นดำ ประกอบด้วยผ้า 3 ชิ้น ชิ้นที่ 1 เป็นสีดำ ไม่มีลวดลายกว้างประมาณ 12 นิ้ว เป็นซิ่นทั้งผืน ชิ้นที่ 2 เป็นซิ่นสีดำสลับลายสีขาว ชิ้นที่ 3 กว้างประมาณ 1 ฟุต มีลวดลายสีขาวสองสามริ้ว เย็บติดเป็นตีนซิ่น ถ้าสามีตายต้องเลาะตีนซิ่นนี้ออก เพื่อไว้ทุกข์ ส่วนเสื้อใช้แขนยาวทรงกระบอก ตัวเสื้อเย็บเข้าตัว คอตั้งผ่าอกตลอด ติดกระดุม เงินถี่ 10 เม็ด เรียกว่า เสื้อก้อม บางทีจะใช้ผ้าคาดอกเรียกว่าผ้าเบี่ยว ปักลวดลายไว้ที่ชายทั้งสอง ชายหญิงที่แต่งงานแล้วจะใช้ ผ้าเบี่ยวสีดำหรือครามแก่

ในโอกาสพิเศษ เช่น พิธีแต่งงาน ลาวโซ่งจะแต่งชุดใหญ่ เรียกว่า เสื้อฮี ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายย้อมคราม มี 2 ด้าน เสื้อฮีของ ชายยาวคลุมสะโพก คอกลม กุ้นรอบคอด้วยผ้าไหมสีแดง แล้วเดินด้วยเส้นทับด้วยผ้าไหมสีอื่น ตรงคอด้านข้างติดกระดุมแบบ คล้อง 1 เม็ด ผ่าตลอดตั้งแต่กระดุมป้ายทบมาทางด้านข้าง แขนเสื้อเป็นแขนกระบอกยาวปลายแคบ ชายเสื้อจะปักด้วยผ้าไหมสี ต่าง ๆ พร้อมติดกระจกชิ้นเล็ก ๆ ด้านข้างผ่าตั้งแต่ปลายเสื้อจนถึงเอว ปักตกแต่งอย่างงดงาม ส่วนของผู้หญิงตัวเสื้อใหญ่และ ยาวกว่ามาก คอแหลมลึก ไม่ผ่าหน้า แขนเสื้อแคบเป็นแขนกระบอก ใส่นุ่งกับผ้าถุง (สมทรง 2524, น.13-15)
ทรงผมของลาวโซ่ง สมัยก่อนเด็กหญิงและชายจะถูกกร้อนผม พอเริ่มเป็นหนุ่มสาว ผู้ชายจะตัดผมทรงดอกกระทุ่ม หรือทรงสูง ส่วนผู้หญิงเริ่มไว้ผมยาว สำหรับหญิงที่สามีตาย ต้องปล่อยผมสยาย ไม่เกล้าผม และห้ามใช้เครื่องประดับทุก ชนิดระหว่างที่ไว้ทุกข์ 1 ปี ต้องทำผมแบบปั้นเกล้าตก คือให้กลุ่มผมอยู่ข้างหลัง เมื่อออกทุกข์แล้วจึงทำผมเกล้าแบบเดิมได้

ประเพณีวัยหนุ่ม
การศึกษาอบรม พ่อจะสอนลูกชายให้รู้จักการทำไร่ไถนา จักสาน เช่น สานกะเหล็บ กระบุง ข้อง ไซ และภาชนะต่าง ๆ ส่วนแม่จะสอนลูกสาวให้รู้จักเวียกเหย้าการเรือน ปั่นฝ้าย เลี้ยงไหม สาวไหม ทอผ้า และการประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ บนผืนผ้า
เลือกคู่ครอง เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่มวัยสาว ผู้สาวจะชวนเพื่อน ๆ ไปลงข่วงปั่นฝ้ายเป็นกลุ่ม ๆ ในยามค่ำคืนของฤดูหนาว ส่วนผู้บ่าวก็จะชวนกันไปเกี้ยวสาวปั่นฝ้าย โดยเป่าปี่แล้วขับไทดำวนเวียนไปมาตามข่วงโน้นบ้างข่วงนี้บ้าง มีการขับโต้ตอบกันไปมาระหว่างหนุ่มสาวจนดึกดื่นจึงกลับขึ้นเรือนโดยมีผู้บ่าวที่ชอบพอกันติดตามไปส่ง กระทำเช่นนี้เป็นกิจวัตรประจำจนเกิดความรักซึ่งกันและกัน ฝ่ายชายจะเล่าให้พ่อแม่ฟังเกี่ยวกับเรื่องที่ตนไปรักมักผู้สาวแล้วอยากได้เป็นภรรยา หลังจากนั้นพ่อแม่ก็จะไปหารือ
บรรดาลุงป้าน้าอาที่นับถือ แล้วแต่ง"พ่อใช้"ไปถามผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ๒-๓ ครั้ง โดยปกติการไปถามครั้งแรกหรือครั้งที่สองพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะยังไม่ตอบตกลงหรืออาจบอกปัดก็ได้ ดังนั้นจึงไปถามอีกเป็นครั้งที่สามเรียกว่า ถามขาด เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงตอบรับก็เป็นอันว่าตกลงให้แต่งงานกันได้ หลังจากนั้นจะเตรียมพิธีกินดองน้อย

กินดองน้อย เป็นพิธีสู่ขอเรียกว่า "ไปส่อง" ฝ่ายชายจะจัดเตรียมพาข้าวหรือขันหมากสู่ขอ โดยฆ่าไก่ ๔ ตัว แยกเป็น ๔ ห่อ สิ่งของประกอบพิธีสู่ขอจะทำเป็นห่ออย่างละ ๔ ห่อ ได้แก่ ปลาปิ้ง ๔ ห่อ หนังหาด ๔ ห่อ (เปลือกไม้ใช้เคี้ยวกับหมาก) พลู ๔ ห่อ เหล้า ๔ ขวด จัดใส่สำรับมอบให้เฒ่าแก่ญาติฝ่ายเจ้าสาว แล้วมอบตัวเป็นเขยกว้านในวันนั้น เพื่อเตรียมพิธีกินดองใหญ่(แต่งงาน)ต่อไป เขยกว้านจะอาศัยอยู่ที่บ้านเจ้าสาวเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่พิธีกินดอง โดยใช้เวลา ๒ เดือน ถึง ๑ ปี บางรายอาจใช้เวลา ๓-๔ ปี และยังไม่มีสิทธิ์อยู่กินกันฉันสามีภรรยา เพราะผิดผีเรือน จะต้องนอนอยู่ทางกว้าน (ปลายเท้าของพ่อตาแม่ยาย) หลังจากพิธีส่อง ฝ่ายหญิงยังมีสิทธิเสรีในการพูดคุยกับผู้บ่าวคนอื่นที่มาเกี้ยวพาราสี โดยว่าที่สามีจะต้องทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นและไม่โกรธ ทั้งนี้เพื่อทดสอบความอดทน อดกลั้นในอารมณ์

พิธีแต่งดองหรือกินดองใหญ่
เป็นพิธีแต่งงานของไทดำ มีกำหนด ๓ วัน บางครั้งจะจัดพิธีพร้อมกับการ"เสนเรือน" วันแรกฝ่ายชายจะทำพิธีเซ่นผีเรือนที่บ้านเจ้าสาว โดยฆ่าหมู ๑ ตัว ไก่ ๘ ตัว ปลาปิ้ง ๘ ห่อ หาด ๘ ห่อ พลู ๘ ห่อ เหล้าไห ๒ ไห พร้อมกับเงินสินเลี้ยงหรือค่าน้ำนม ๕ หมัน ๒ บี้ ฆ่าควาย ๑ ตัว เลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน วันที่สองสะใภ้ใหม่จะไปหยามเรือนพ่อปู่แม่ย่า คือ ไปเยี่ยมพ่อแม่ของสามีตั้งแต่ตอนเช้าเพื่อแสดงความเคารพ สะใภ้จะต้องมีของไปฝาก เช่น ผ้าเปียว (ผ้าคลุมศีรษะของสตรีเผ่าไทดำ) ผ้าปู ที่นอน ซิ่นไหม เสื้อ ถุงย่าม ที่ทำจากฝีมือของตนเอง ส่วนพ่อปู่แม่ย่าจะให้เงินรับไหว้จำนวน ๕-๑๐ หมัน หรือให้สิ่งของตอบแทนตามสมควรแก่ฐานะ หลังจากนั้นก็จะไปนบไหว้ญาติผู้ใหญ่ของสามี จนกระทั่งถึงตอนบ่ายจึงเดินทางกลับไปรับประทานอาหารเรียกว่า กินงายหัว ส่วนวันที่สามของพิธีแต่งดองเป็นวันสรุปเพื่อเก็บของที่ยืมมาจัดงานส่ง ทำอาหารเลี้ยงผู้ที่อยู่ช่วยงาน ส่วนมากจะเป็นญาติพี่น้องเพื่อนสนิทและเพื่อนบ้านใกล้เคียง
ธรรมเนียมดั้งเดิมของไทดำ ผู้เป็นเขยจะต้องอยู่ที่บ้านของพ่อตาแม่ยาย มีกำหนดนานถึง ๑๒ ปี จึงจะมีสิทธิ์กลับคืนไปอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายสามีหรือปลูกเรือนใหญ่อยู่ใกล้ ๆ กับพ่อแม่และญาติฝ่ายสามี ต่อมาลดลงเหลือ ๘ ปี ปัจจุบันลดลงเหลือ ๔ ปี

"มานทาง" หญิงใดมีท้องนอกสมรสเรียกว่า "มานทาง" จะถูกสังคมลงโทษ โดยถูกอำนาจการปกครองของหมู่บ้านปรับไหมทั้งชายและหญิงเป็นเงิน ๑ หมัน ๕ บี้ เรียกว่า "เงินล้างน้ำล้างท่า" แล้วให้อยู่กินเป็นสามี-ภรรยากัน ถ้าหากฝ่ายชายไม่ยอมรับเป็นภรรยาจะต้องเสียค่าปรับไหมให้แก่ฝ่ายหญิงเป็นเงิน ๓๐ หมัน ในกรณีที่หญิงนั้นตายจะถูกชาวบ้านปรับไหมเรียกว่า "เฮียวซาว" โดยให้ฆ่าควาย ๑ ตัวเพื่อเลี้ยงผู้มาช่วยงานศพแล้วมอบความรับผิดชอบการจัดงานศพให้ฝ่ายชายรับภาระทั้งหมด
การแต่งงานของลาวโซ่ง การแต่งงาน จะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิง การเลือกคู่ครองเป็นอิสระ เห็นได้ในประเพณีลงข่วงเล่น คอนบนลานกว้าง ซึ่งเป็นลานนวดข้าว ตกกลางคืนหลังจากทำไร่นามาแล้ว หญิงสาวจะมานั่งทำงานในลานข่วง เช่น ปั่นฝ้าย กรอไหม เย็บปักถักร้อย ตำข้าว ฯลฯ ลานนี้เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวพบปะกัน หนุ่มสาวจะนัดเจอกันหลังลงข่วงเสร็จแล้ว ระหว่างคุยกันห้ามชายแตะต้องตัวหญิงสาว ถ้าแตะต้องตัวถือว่าผิดผี ผู้ชายต้องเอาดอกไม้ ธูปเทียน เหล้า หมากพลูและเงิน จำนวนหนึ่งมาขอขมาผีเรือนและพ่อแม่ฝ่ายหญิง เมื่อชายหญิงตกลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ฝ่ายชายต้องไปสู่ขอหญิง มีการหมั้นและเรียกสินสอด หลังแต่งงาน หนุ่มสาวต้องแยกครัวเรือนจากพ่อตาแม่ยายทันที การแต่งงานต้องแต่งในเดือน คู่เท่านั้น (สมทรง 2524, น.19-20)

ประเพณีการตาย
ประเพณีไทดำเมื่อมีคนตายในหมู่บ้านจะมีการยิงปืนขึ้นฟ้า ๓ นัด เพื่อเป็นสัญญาณบอกกล่าวแก่ชาวบ้าน ซึ่งทุกคนจะหยุดทำงานจนกว่าจะนำศพไปฝัง ภายหลังตายบรรดาญาติพี่น้องจะช่วยกันอาบน้ำศพ จากนั้นก็แต่งตัวด้วยชุดเสื้อผ้าของเผ่าไทดำ นำผ้าแพรสีขาวมาเย็บเป็นถุงบรรจุศพแล้วใช้ไหมเย็บติดให้เรียบร้อย บรรจุลงในโลงศพโดยใช้ผ้าคลุมหน้าศพไว้ผืนหนึ่ง กรณีเด็กน้อยตายจะไม่ประกอบพิธีกรรมตายวันไหนให้นำไปฝังในวันนั้น ส่วนคนหนุ่มสาวถ้าตายตอนกลางคืนในเช้าวันรุ่งขึ้นให้ฆ่าหมูหรือวัว ควาย ๑ ตัว ทำอาหารจัดสำรับทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย กินเรียกว่า "เฮ็ดงาย" พอถึงตอนเย็นก็นำไปฝัง ส่วนคนวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุตายเก็บศพไว้ ๑-๒ คืน แล้วจึงนำไปฝัง และฆ่าหมูหรือวัวควาย ๑ ตัว เฮ็ดงายให้ผู้ตายในเช้าของวันที่จะนำไปฝัง การทำพิธีฝังฆ่าหมู ๑ ตัว อุทิศให้เรียกว่า หมูเข้าขุม หลังจากนั้นอีก ๓ วัน จะทำพิธีเฮ็ดเฮียว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนำเครื่องเฮียวไปส่งให้ที่ป่าช้า
เมื่อเสร็จพิธีฝังศพ ผู้ไปร่วมพิธีศพทุกคนจะลงไปอาบน้ำชำระร่างกายและสระผมในแม่น้ำ เพื่อชำระสิ่งอัปมงคลทั้งหลายออกจากร่างกาย พอถึงตอนเย็นหมอขวัญจะทำพิธีสู่ขวัญให้แก่ครอบครัวของผู้ตายและผู้ที่ไปส่งศพ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ทุกคน หลังจากนั้นครอบครัวของผู้ตายจะจัดสำรับอาหารไปทานอุทิศให้ที่หลุมฝังศพผู้ตายเป็นเวลา ๗ วัน พอครบวันที่เจ็ด เขยกก จะทำพิธีเชิญขวัญหรือวิญญาณของผู้ตายขึ้นไปเป็นผีเรือน โดยนำไปไว้ด้านในสุดของเรือนเรียกว่า "กะลอหอง" เพื่อปกป้องคุ้มครองลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวให้อยู่ดีมีสุขตลอดไป หลังจากนั้นเมื่อครบรอบวันตายทุก ๆ ๑๐ วัน จะจัดพาข้าวเป็นสำรับเล็ก ๆ ทำพิธีเซ่นผีเรือนเรียกว่า "เสนเทวดาปาดตง" หรือ "มื้อปาดตง" นำไปวางไว้ที่ห้องผีเรือน โดยใช้อาหารจากที่สมาชิกในครอบครัวรับประทานในชีวิตประจำวัน ส่วนการ "เสนปาดตง" พิเศษจะทำในช่วงเวลาที่ได้ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวข้าว ทำพิธีเสนปาดตงเพื่อทานข้าวใหม่ให้ผีเรือนกินก่อนสมาชิกของครอบครัว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวและลูกหลาน


พิธีศพ

(ข้อมูลเพิ่มเติมจากhttp://www1.mod.go.th/heritage/nation/oldcity/samutsakhon8.htm) จะเชิญหมอเสนมาประกอบพิธี เริ่มตั้งแต่การเอาผีลงเรือน และการเอาผีขึ้นเรือน
การเอาผีลงเรือน ถ้าผู้ตายถึงแก่กรรมในบ้านเรือน และตั้งศพไว้ในบ้านก่อนจะเคลื่อนย้ายไปประกอบพิธีต่อที่วัด เจ้าภาพจะเชิญหมอเสนมาทำพิธีเรียกขวัญ (ช้อนขวัญ) คนในบ้านก่อนไม่ให้ติดตามผู้ตายไปอยู่ที่อื่น
การช้อนขวัญ เริ่มด้วยหมอเสนถือสวิงเดินนำหน้าขบวนและทำท่าช้อนไปรอบ ๆ บริเวณที่ตั้งโลงศพของผู้ตาย ตามด้วยเจ้าภาพ ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน เดินถือเสื้อผ้าของคนในบ้านหนึ่งชุด บรรดาญาติพี่น้อง และบุตรหลานทั้งหมดเดินตามหลัง เมื่อวนสามรอบแล้วต้องเข้าไปในห้องผีเรือน เพื่อไหว้ผีเรือนให้ช่วยคุ้มครองอันตราย หรือเคราะห์ร้ายทั้งปวง และให้ขวัญของแต่ละคนกลับมาอยู่กับตนเอง
หลังจากนั้นจึงทำพิธีเคลื่อนย้ายศพจากเรือนไปวัด โดยจัดขบวนแห่ให้สวยงาม เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตายมีการตกแต่งด้วยธง
การเอาผีขึ้นเรือน จะทำเมื่อบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ในบ้านตายเท่านั้น เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ตาย มิให้วิญญาณของผู้ตายต้องเร่ร่อน เป็นการเชื้อเชิญวิญญาณของผู้ตายให้เข้าไปอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อจะได้คุ้มครองบุตรหลาน
หมอเสน จะเป็นผู้กำหนดวันเอาผีขึ้นเรือนและเตรียมพิธี หลังจากเผาศพผู้ตายเรียบร้อยแล้ว วันรุ่งขึ้นหมอเสนจะเก็บอัฐิของผู้ตายบรรจุโกศส่วนหนึ่ง เพื่อให้บุตรหลานนำไปบูชา ณ ห้องผีเรือน ส่วนอัฐิที่เหลือจะใส่ไหนำไปฝังยังสถานที่ที่เตรียมไว้ในป่าช้า และนำบ้านเล็ก ๆ ทำด้วยตอกไม้ไผ่เรียกว่า หอแก้ว ปลูกคร่อมบนบริเวณที่ฝังไหอัฐิไว้ หากผู้ตายเป็นชายเช่น บิดา ปู่ ตา ฯลฯ จะตกแต่งหอแก้วให้สวยงามด้วยธงไม้ไผ่สูงประมาณ ห้าวา เรียกว่า ลำกาว พร้อมทั้งนำผ้าดิบสีขาวขลิบรอบ ๆ ขอบผ้าด้วยผ้าสีต่าง ๆ สลับกันสามสีคือ แดง เหลือง ดำ ผูกติดกับยอดไม้ไผ่ให้มีความยาวพอเหมาะกับลำกาว ปลายยอดลำกาวติดรูปหงส์ตัวเล็ก ๆ ทำด้วยไม้งิ้วแกะสลักงดงาม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพาหนะพาผู้ตายกลับไปเมืองแถน หลังจากนั้นจะนำอาหารมาเซ่นไหว้ผู้ตาย ทุกเช้าจนครบสามวัน แล้วหมอเสนจะรื้อหอแก้ว และลำกาวทิ้งหมดด้วยเชื่อว่าจะได้ไม่มีการตายเกิดขึ้นในครอบครัวนี้อีก และนัดกำหนดวันเอาผีขึ้นเรือนตามความพร้อมของเจ้าภาพ
เมื่อถึงวันกำหนดเอาผีขึ้นเรือน หมอเสนจะเป็นผู้กล่าวเชิญวิญญาณของผู้ตายและทำพิธีเซ่นไหว้ในห้องผีเรือน โดยทำพิธีคล้ายการเสนผีเรือน เริ่มด้วยหมอเสนจะกล่าวเชิญวิญญาณของผู้ตายให้มารับอาหารที่เตรียมไว้ก่อน แล้วจึงเชิญบรรพบุรุษตามลำดับรายชื่อที่จดไว้ในสมุดผีเรือน ให้มารับอาหารจนครบทุกชื่อ เสร็จแล้วจึงทำพิธีกู้เผือนคือ การนำอาหารที่เหลือออกจากปานเผือน ทั้งหมด
หลังจากเสร็จพิธีเอาผีเรือนขึ้นเรือนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนต้องทำพิธีสู่ขวัญ หรือเรียกขวัญญาติพี่น้องบุตรหลานในครอบครัวผู้ตาย
เสนเรือน
พิธีเสนเรือน เป็นพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของชนเผ่าไทดำซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตามปกติพิธีเสนเรือนจะปฏิบัติกันทุกครอบครัวเป็นประจำ ๒-๓ ปีต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะและความพร้อมของครอบครัว เพื่อคุ้มครองบุตรหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญก้าวหน้า ผู้ประกอบพิธีกรรมคือ "หมอเสน" ส่วนผู้ร่วมพิธีได้แก่บรรดาลูกหลานและญาติ ๆ รวมทั้งแขกเชิญ ในกรณีที่เจ้าบ้านหรือสมาชิกในครอบครัวเป็นพนักงานของรัฐมีตำแหน่งสำคัญจะเชิญแขกจำนวนมาก บางครั้งแขกมาร่วมงาน ๒๐๐-๓๐๐ คน ญาติที่มาร่วมงาน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือญาติสืบสายโลหิตจะแต่งกายแบบธรรมดา และญาติจากการแต่งงานได้แก่ฝ่ายเขยหรือสะใภ้ จะแต่งกายพิเศษด้วยชุด "เสื้อฮี" หรือเสื้อยาวเพื่อเป็นการเคารพผีเรือนและเป็นที่สังเกตให้ผู้มาร่วมงานรู้ว่าเป็นเขยหรือสะใภ้
ก่อนทำพิธีเสนเรือนจะจัดเตรียมสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ได้แก่ เหล้า หมู ๑ ตัว ตามปกติจะเตรียมต้มเหล้าไว้ล่วงหน้าใส่ไหฝังดินไว้ ๖ เดือน ถึง ๑ ปี เพื่อให้ได้เหล้าที่มีคุณภาพดี ส่วนหมูจะเตรียมเลี้ยงไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา ๑ ปี


พิธีเสนเรือน เริ่มตั้งแต่ในตอนเช้า โดยมีหมอเสนเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในห้อง ผีเรือน ผู้เข้าร่วมพิธีได้แก่ญาติที่อยู่ในสิงหรือตระกูลผีเดียวกัน พิธีกรรมเริ่มจากเจ้าบ้านยกสำรับเครื่องเซ่นถวายผีเรือน จากนั้นหมอเสนจะเริ่มประกอบพิธีโดยกล่าวเชิญผีเรือนให้มารับเครื่องเซ่น โดยเรียกชื่อผีเรือนจาก"ปั๊บ"รายชื่อผีเรือน ให้มากินเครื่องเซ่นทีละคน ขณะที่เรียกชื่อผีเรือนหมอเสนจะใช้ไม้ทู (ตะเกียบ) คีบอาหารและเครื่องเซ่นป้อนให้ผีเรือนกิน โดยหย่อนลงทางช่องเล็ก ๆลงไปใต้ถุนบ้านแล้วหยอดน้ำตามลงไป จนกระทั่งเรียกชื่อผีเรือนครบทุกคน พิธีเซ่นให้ผีกินอาหารเช่นนี้จะทำ ๒ ครั้ง คือมื้อเช้าและกลางวัน หลังจากนั้นจะเสนเหล้าหลวง โดยใช้เหล้า ๑ ขวด และกับแกล้มเป็นเครื่องเซ่น หมอเสนจะทำพิธีเรียกผีบรรพบุรุษมากินตามรายชื่อในปั๊บผีเรือนจนครบทุกคนเป็นเสร็จพิธี
ข้อมูลเพิ่มเติมจากhttp://www1.mod.go.th/heritage/nation/oldcity/samutsakhon8.htm พิธีเสนเรือน เป็นพิธีสำคัญของลาวโซ่ง ซึ่งจะขาดหรือละเลยไม่ได้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการกระทำที่เพิ่มความเป็นสวัสดิมงคลแก่ครอบครัว จะต้องจัดปีละครั้งเป็นอย่างน้อย คำว่า เสน แปลว่า เซ่น หรือสังเวย เสนเรือน หมายถึงการเซ่นไหว้ผีเรือน ได้แก่ การเซ่นไหว้ ปู่ย่า ตายาย รวมทั้งบรรพบุรุษทุกคน

การทำพิธีเสนเรือน เจ้าภาพจะเชิญหมอเสน มาเป็นผู้ประกอบพิธีพร้อมกับแจ้งญาติพี่น้องให้ทราบ กำหนดวันทำพิธี และจัดเตรียมเครื่องใช้ในการทำพิธีให้เรียบร้อย เช่น เสื้อฮี - ส้วงฮี สำหรับเจ้าภาพสวมใส่ในขณะทำพิธี ปานเผือน (ภาชนะคล้ายกระจาดขนาดใหญ่ใช้บรรจุอาหารและเครื่องเซ่นผีเรือน) ปานข้าว (ภาชนะใส่อาหารในหม้อเสน) ตั่งก๋า (เก้าอี้หรือม้านั่งสำหรับหมอเสนนั่งทำพิธีในห้องผีเรือน) และอาหารที่เป็นเครื่องเซ่นต่าง ๆ หมูจุ๊บ (เนื้อหมู เครื่องในหมูยำ) แกงไก่กับหน่อไม้เปรี้ยว เนื้อหมูดิบ ซึ่โครงหมู ไส้หมู ข้าต้มผัด มันเทศต้ม เผือกต้ม อ้อย ขนมและผลไม้ต่าง ๆ ตามฤดูกาล ข้าวเหนียวนึ่งเจ็ดห่อ ตะเกียบเจ็ดคู่ หมากพลู บุหรี่และเหล้า เป็นต้น เมื่อได้เวลาเซ่นไหว้ผีเรือน เจ้าภาพจะจัดเครื่องเซ่นต่าง ๆ บรรจุลงในปานเผือนที่เตรียมไว้ และยกเข้าไปวางไว้ในห้องผีเรือนที่เรียกว่า กะล่อห่อง ซึ่งเป็นสถานที่ทำพิธี หมอเสนจะเริ่มพิธีด้วยการกล่าวเชิญบรรดาผีเรือนที่เป็นบรรพบุรุษของเจ้าภาพ โดยเรียกชื่อบรรพบุรุษตามบัญชีรายชื่อที่เจ้าภาพจดไว้ในสมุดผีเรือน เรียกว่า ปั๊บผีเรือน จนครบทุกชื่อสามครั้ง เมื่อครบแต่ละครั้ง หมอเสนจะใช้ตะเกียบคืบหมูกับขนมทิ้งลงไปในช่องเล็ก ๆ ด้านขวาของห้องผีเรือนแล้วเซ่นเหล้าแก่ผีเรือนอีกสองครั้ง
หลังจากเซ่นไหว้ผีเรืนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจะทำพิธีเสี่ยงทายให้แก่เจ้าภาพเรียกว่า ส่องไก่ ด้วยการพิจารณาลักษณะของตีนไก่ในแกงหน่อไม้เปรี้ยวที่เจ้าภาพนำมาให้ และทำนายตามลักษณะของตีนไก่ จากนั้นเจ้าภาพจะทำพิธีขอบคุณหมอเสน เรียกว่า ฟายหมอ แล้วจึงเลี้ยงอาหารแขกที่มาช่วยงานเป็นอันเสร็จพิธี

ດ້ຈາກ
http://www.thaisongdumphet.is.in.th/?md=content&ma=show&id=3

ไม่มีความคิดเห็น: