วันศุกร์ที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ชนชาติผู้ไท

ชนชาติผู้ไท

ประวัติศาสตร์นิเวศวิทยาชนชาติผู้ไท
บนแผ่นดินอีสานตอนบน*
ธันวา ใจเที่ยง
โครงการศึกษานิเวศวิทยาชาวนา 2 ฝั่งโขง
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์
ถิ่นฐานดั้งเดิมของชนชาติผู้ไท
ชาวผู้ไท ถือว่าเป็นชนเผ่าไทหรือไต อีกสาแหรกหนึ่ง ซึ่งจัดว่าเป็นผู้ที่พูดภาษาตระกูลไทกะได (Tai -Kadai) หรือไท-ลาว ชนชาติไทเหล่านี้ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเขตป่าฝนเมืองร้อน โดยเฉพาะในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำสาละวิน ลุ่มแม่น้ำดำ ลุ่มแม่น้ำแดง ที่อยู่ในบริเวณรัฐชาติไทย พม่า ลาว เวียดนาม และจีน เป็นต้น รวมทั้งบริเวณทางเหนือของอินเดีย (ธันวา ใจเที่ยง,2545:12)
สำหรับประเทศไทย ในปัจจุบันคำว่าผู้ไท ยังไม่เป็นที่เห็นร่วมกันว่าจะใช้คำว่า ผู้ไท หรือ ภูไท ดี บ้างก็ใช้ผู้ไทย หรือภูไทย ก็มี ซึ่งการเขียนคำว่าภูไท เป็นผู้ไท หรือ ผู้ไท เป็นภูไท แล้วแต่ทัศนะของนักวิชาการหรือนักวัฒนธรรม ซึ่งย่อมเป็นอิสระทางความเห็นและการอธิบายทางวิชาการ ของนักประวัติศาสตร์หรือนักวัฒนธรรม แม้แต่ผู้เขียนเอง ยังไม่ปักใจว่าคำไหนจะถูกต้องจริงๆ เพราะมิใช่นักวัฒนธรรมหรือนักประวัติศาสตร์ แต่ข้าพเจ้าเองอาจโน้มเอียงออกมาทางผู้ไทมากกว่า เพราะอย่างน้อยข้าพเจ้าก็ไม่คิดว่า ชาวผู้ไท เป็นไทภู เป็นเพียงแต่คนที่อยู่ราบลุ่มหุบภู และคำว่าไทภู เป็นที่รับทราบว่า เป็นการเรียกคนที่อยู่แถบภู ทุกชนชาติ มิได้เฉพาะกลุ่มคนไตสาแหรกนี้ เท่านั้น ยังรวมถึงชาว บูรหรือข่า รวมไปถึงม้ง ที่มิใช่ชนชาติไต เป็นต้น แต่คนชนเผ่าผู้ไทนี้ ถือว่าตนเองเป็นคนไท หรือผู้ไท มิใช่ชาวข่า ที่พูดอีกภาษาตระกูลมอญเขมร ซึ่งในงานของนักนิรุกติศาสตร์ อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ เองก็กล่าวถึงเรื่องนี้ “ผู้น้อย เป็นภาษาไต-ลาวทางเหนือแปลว่า คนเล็ก ผู้แปลว่า คน ทำนองเดียวกับในคำที่ชาวไทในเวียดนามเหนือเรียกตัวเองว่าผู้ไท ซึ่งก็แปลว่าคนไท.. มีผู้เข้าใจผิดเอามาเขียนเป็นภาษาไทยกลางว่าภูไท กลายเป็นภูเขาไทไป ผู้กับภู ออกเสียงผิดกันอย่างชัดเจนในภาษาผู้ไทและลาว” (จิตร ภูมิศักดิ์,2540:270) เรื่องนี้ข้าพเจ้าเคยถามปัญญาชนน้อยแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คุณกองสี เฮืองโพไซ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ น้องบอกว่าที่ประเทศลาวก็ใช้คำว่า “ผู้ไท”
อย่างไรก็ตามอาจารย์ชัยบดินทร์ สาลีพันธ์ ปัญญาชนชาวผู้ไท อ.เรณูนคร จ.นครพนม ท่านกลับเห็นว่าจากการที่ท่านศึกษาและเดินทางไปถึงถิ่นของชาวผู้ไทที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ท่านเห็นว่า ชนชาติรอบข้าง เรียกคนกลุ่มนี้ว่า เป็นพวกไทภู ตั้งถิ่นฐานใกล้ภู ท่านเห็นว่า ควรจะเขียนคำว่า “ภูไท” มากกว่า “ผู้ไท” และภาษาของชาวผู้ไท ไม่มีสระเสียงยาวอย่าง “ผู้” แต่จะเป็นสระเสียงสั้น (ชัยบดินทร์ สาลีพันธ์,สัมภาษณ์ 16 ตุลาคม 2549) ผู้เขียนเองมิกล้าที่จะบังคับหรือโน้มน้าวความคิดให้ผู้อ่านหรือผู้สนใจ เชื่อใช้และใช้คำใด เพียงแต่อยากให้ร่วมกัน หาเหตุผลหรือหลักฐานมาอธิบายกันให้มากและลึกกว่านี้
ในงานเอกสารทางวิชาการ หลายชิ้น เช่นงานของ อาจารย์ ภัททิยา ยิมเรวัต มหาวิทยาลัยมหิดล (2544) เห็นว่าชาวผู้ไท มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ ชาวผู้ไทขาวและชาวผู้ไทดำ ในเอกสารเกี่ยวกับประวัติผู้ไทยเรณูนคร ฉบับวัดพระธาตุเรณูนคร ได้กล่าวว่า ถิ่นฐานดั้งเดิมของชนชาติผู้ไทอยู่ในแคว้นสิบสองจุไท (พระมหาปัญญา เขมปัญโญ,2542:73) อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในปัจจุบัน ในพงศาวดารเมืองไล (อ้างในภัททิยา ยิมเรวัต,2544:7) กล่าวว่า เมืองที่ผู้ไทดำอยู่ คือ เมืองแถน เมืองควาย เมืองตุง เมืองม่วย เมืองลา เมืองโมะ เมืองหวัด และเมืองซาง รวมเป็น 8 เมือง ส่วนเมืองผู้ไทขาว มี 4 เมือง เมืองไล เมืองเจียน เมืองมุน เมืองบาง รวมเป็น 12 เมือง คำว่าจุ นักวิชาการบางท่านเห็นว่า เป็นคำภาษาเวียดนาม ที่น่าจะมาจากคำว่า “เจิว” ที่หมายถึง เขต แดน เพราะฉะนั้นจุไทจึงน่าจะหมายถึง ดินแดน อันเป็นที่อยู่ของชนเผ่าไท
ชาวผู้ไทนี้พระยาสุรศักดิ์มนตรี เห็นว่าชาวผู้ไท คือ พวกเดียวกันกับพวกลาวโซ่ง ในจังหวัดเพชรบุรีของไทย ดังจะเห็นได้จากบันทึกกล่าวถึงแคว้นสิบสองจุไทใน พ.ศ.2430 ของท่านตอนหนึ่ง “ เมืองสิบสองจุไท นั้นเป็นเมืองของพวกผู้ไทหรือลาวโซ่ง ดังพวกลาวเมืองเพชรบุรี” เช่นเดียวกับที่ท่านอาจารย์ภัททิยา ยิมเรวัต (2544 :(14)) ก็เห็นว่า ลาวโซ่งที่เพชรบุรี เป็นกลุ่มเดียวกันกับไทดำในลาวและไทดำในเมืองแถงหรือแถนในเวียดนาม โดยที่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เรียกคนกลุ่มนี้ ที่นอกจากจะพบในทางเหนือของเวียดนามแล้ว ยังตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ทางเหนือของประเทศ ในแขวงหัวพัน ว่า เป็นไทเหนือ ซึ่งชาวหลวงพระบาง เรียกกลุ่มชนชาติไตหรือผู้ไท ที่อาศัยแถบหัวพันว่า เป็นพวกลาวเก่า เพราะตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มายาวนาน ก่อนที่จะสถาปนาล้านช้าง (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์,2547:100)
ในงานของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) (อ้างใน พิณรัตน์ อัครวัฒนากุล ,2541) ได้กล่าวว่าชาวผู้ไทในภาคอีสาน แต่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองแถงหรือแถน (เดียนเบียนฟู) ในแคว้นสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในปัจจุบัน ก่อนที่จะอพยพย้ายเมืองมาอยู่ที่เมืองวังในอาณาเขตของเวียงจันทน์ และบางส่วนอพยพเข้าไทยในที่สุด
อย่างไรก็ตามในงานของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ เรื่องราชอาณาจักรลาว (2547) ระบุว่า ชาวผู้ไท นอกจากจะมี 2 กลุ่ม คือ ผู้ไทดำ และผู้ไทขาว ยังมีกลุ่มชาวผู้ไทอีกกลุ่มหนึ่ง คือพวกผู้ไทแดง หรือไทแดง พบมากในเขตเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้ไทกลุ่มนี้ชอบแต่งกายด้วยผ้าสีแดง และจากการที่ข้าพเจ้าสอบถาม ปัญญาชนทางฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เมืองซำเหนือ ระบุว่า ที่นั่นก็มีชนชาติไทแดง และผู้ไทแดง เหล่านี้พบมากในแถบลุ่มแม่น้ำแดง ทางเหนือของประเทศสังคมนิยมเวียดนาม
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2547) ยังกล่าวถึงกรณี ผู้ไทกับไทดำ ไทขาว และไทแดง ว่า มีคนมองว่าเป็นคนละพวก แต่ท่านเห็นว่า ตามคำให้การของเจ้าเมืองต่างๆของสิบสองจุไท เมืองหัวพันห้าทั้งหก อันเป็นเขตใหญ่ของชนชาติไท ทางเหนือของลาวและเวียดนาม เรียกตนเองเป็นผู้ไทดำ ผู้ไทขาว และอ้างถึงเจ้าศักดิ์ประเสริฐ ณ จำปาศักดิ์ อภิรัฐมนตรีแห่งสภาที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ลาวแจ้งว่า “ไทดำไทขาวนั้นเรียกตามเครื่องแต่งตัวดำและขาว แต่ความจริงแล้วผิวขาวอย่างไทยลื้อสิบสองปันนา และตัวเขาเรียกตัวเองว่า “ผู้ไท” การที่คนอื่นเรียกไทดำ ไทขาวนั้น ก็ทำนองจีนเรียกฝรั่งว่า อั้งม้อ แปลว่า ผมแดงฉันนั้น.. ” (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์,2547:93)

ประวัติศาสตร์การตั้งชุมชนชาวผู้ไทในภาคอีสานราชอาณาจักรไทย

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าในผืนแผ่นดินอีสานเคยเป็นบริเวณที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่ที่รุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและเคยเป็นแหล่งชุมชนเก่าอันเป็นแหล่งที่อยู่ของคนโบราณ ดังจะเห็นจากหลักฐานที่อารยธรรมแบบบ้านเชียง กระจายทั่วอีสานเหนือบริเวณลุ่มน้ำสงคราม หรืออารยธรรมที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่พึ่งค้นพบ แต่การก่อตั้งชุมชนในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือยุคปัจจุบัน และถือว่าเป็นต้นกำเนิดและเป็นบรรพชนของคนอีสานสาแหรกต่างๆ รวมทั้งสาแหรกผู้ไทที่เรากำลังกล่าวถึง ที่ชัดเจนมากที่สุด น่าจะเริ่มปรากฏจริงจัง ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ที่ปรากฏมีการอพยพเข้ามาของประชาชนชาวลาว กลุ่มพระราชครูโพนเสม็ก หรือญาคูขี้หอม นำประชาชนจากเวียงจันทน์มาบูรณพระธาตุพนม และส่วนหนึ่งก็สร้างชุมชนใหม่บริเวณพระธาตุพนม แถวบ้านธาตุพนม บ้านพระกลาง บ้านหลักศิลา บ้านหนองหอย เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มของพระวอพระตา ที่สร้างชุมชนหมู่บ้านแถบหนองบัวลำภูและอุบลราชธานี (ธันวา ใจเที่ยง,2547:24)
นอกจากนี้ การอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาของกลุ่มพระวอพระตาในเขตหนองบัวลุ่มภู ราวปี พ.ศ 2308 อันเกิดจากข้อพิพาทในกรุงเวียงจันทน์ และต่อมาในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันของกลุ่มพระวอพระตาที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนทางอีสานตอนบน ในเขตหลังภูพานไปทางทิศตะวันตก กลุ่มเจ้าโสมพะมิตร ก็ได้อพยพเข้ามาตั้งชุมชนและต่อมาชุมชนบางส่วน ได้ถูกพัฒนาขยายกลายเป็นเมืองกาฬสินธุ์
กระทั่งหลังสงครามระหว่างราชอาณาจักรกรุงเทพฯกับราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ในช่วงปี พ.ศ. 2369 หลังการพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์แห่งล้านช้าง ทำให้เวียงจันทน์ถูกกองกำลังของทางกรุงเทพฯบุกไปทำลายอย่างย่อยยับ ประชากรที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ถูกนำอพยพมาอยู่ทางฝั่งแม่น้ำโขงทางทิศตะวันตกเป็นจำนวนมาก เพื่อทำลายฐานกำลังอันเป็นการแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์ การเคลื่อนตัวของประชาชนจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงหรือของลาว ในช่วงหลังการปราบปรามเจ้าอนุวงศ์ ปี พ.ศ. 2369 จึงเป็นการอพยพครั้งใหญ่ มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของกลุ่มชนสองฟากโขงดังกล่าว น่าจะเป็นประวัติศาสตร์คลาสสิค (Classical history) ในเรื่องการตั้งถิ่นฐานชุมชนหมู่บ้านไทยสายอีสาน (ธันวา ใจเที่ยง,2546:25) และชาวผู้ไทที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่แถบ อำเภอเรณูนคร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม อำเภอวาริชภูมิ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อำเภอหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายน์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ใช้ในการทำการศึกษา ก็ได้เข้ามาในช่วงนี้
ประวัติศาสตร์การอพยพเคลื่อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงในครั้งนี้ นักวิชาการท้องถิ่นอย่างท่านอาจารย์สุรจิตต์ จันทรสาขา ชาวมุกดาหาร ซึ่งเป็นน้องชายต่างบิดา ของอดีตนายกรัฐมนตรี “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน้นแฟ้นระหว่างชาวเวียงจันทน์กับชาวผู้ไท ว่า ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (พระเจ้าองค์หล่อ) แห่งเวียงจันทน์ หัวหน้าชาวผู้ไท ชื่อ พระศรีวรราช มีความดีความชอบ เพราะช่วยในการปราบกบฏจนสงบ ถูกปูน บำเหน็ดโดยพระราชทานพระราชธิดา ชื่อเจ้านางช่อฟ้า ให้เป็นภรรยา ต่อมา แต่งตั้งให้บุตรที่เกิดจากพระศรีวรราชกับเจ้านางช่อฟ้า รวม 4 คน ไปครองเมือง สบแอก เมืองเชียงค้อ เมืองวัง และเมืองตะโปน (เซโปน) พร้อมกับอพยพชาวผู้ไทยลงไปทางใต้ของราชอาณาจักรเวียงจันทน์ เป็นเมืองวัง เมืองเซโปน ต่อมาชาวผู้ไท ได้แยกย้ายออกไปตั้งเป็นเมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพลาน ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแขวงสหวันเขตของลาว (สุรจิตต์ จันทรสาขา,2543:91)
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าก่อนหน้าที่ชาวผู้ไทจะอพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เคยตั้งถิ่นฐานมั่นคงทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง อยู่ใต้พระบารมีของพระเจ้ามหาชีวิตของล้านช้าง และได้รับความไว้พระราชหฤทัย มอบพระราชธิดาและให้ลูกหลานชาวผู้ไท เป็นเจ้าเมืองปกครอง และมีอิสระในการสร้างชุมชน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าอนุวงศ์หรือพระเจ้าอนุรุทราชแห่งนครเวียงจันทน์ ทรงก่อการสงครามเพื่อทำการประกาศเอกราชให้กับล้านช้างในปี พ.ศ.2369 เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ ถูกกองทัพไทยปราบ ทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายเป็นที่สุดยุคหนึ่งของล้านช้าง เนื่องจากนอกจากที่เวียงจันทน์จะถูกเผาจนย่อยยับแล้ว ทางกรุงเทพฯยังมีนโยบายที่จะกวาดต้อน พวกผู้ไท ข่า กะโซ่ กะเลิง ฯลฯ จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ภาคอีสาน) ซึ่งถือว่าเป็นการแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์ และตัดกำลังรบของเวียงจันทน์และญวน
ทำให้ชาวผู้ไทที่อยู่กันอย่างสงบสุขที่เมืองวัง เมืองเซโปน เมืองพิน เมืองนอง เมือง กะปองเมืองคำอ้อคำเขียว ฯลฯ ในดินแดนล้านช้างอพยพ เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในฝั่งไทย ทั้งในเขตกาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี โดยเฉพาะสกลนครและนครพนม ที่มีกลุ่มชาวผู้ไทอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันมาก ในแถบลุ่มภูพาน ทั้งมาจากสายเมืองวัง ที่มาอาศัยแถบ อำเภอเรณูนคร นครพนม หรือสายเมืองกะปอง ที่มาอาศัยแถบ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เป็นต้น
นอกจากนี้แหล่งที่อยู่ของชาวผู้ไท ยังพบในเขตลุ่มภูพานที่สำคัญเขตหนึ่ง คือ ในพื้นที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นชาวผู้ไทจากเมืองวัง โดยท่านอาจารย์สุรจิตต์ จันทรสาขา (2543:92) ระบุว่าชาวผู้ไทในพื้นที่กาฬสินธุ์แบ่งการอพยพเป็น 2 สาย กล่าวคือ
(1) เมืองกุฉินารายณ์ เป็นผู้ไทจากเมืองวัง (ผู้ไทดำ) เมื่อ ปี พ.ศ. 2387 จำนวน 3,443 คน
อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านกุดสิม ตั้งขึ้นเป็นเมืองกุดสิมนารายณ์ ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ ตั้งให้ราชวงเมืองวังเป็นพระธิเบศร์วงษา เป็นเจ้าเมือง คือ ท้องที่ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
(2) เมืองภูแล่นช้าง เป็นชาวผู้ไทจากเมืองวัง (ผู้ไทดำ) เช่นกัน อพยพเข้ามาเมื่อปี พ.ศ.2387
จำนวน 3,032 คน ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านภูแล่นช้าง ตั้งเป็นเมืองภูแล่นช้าง ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ ตั้งให้หมื่นเดชอุดม เป็นพระพิชัยอุดมเดช เป็นเจ้าเมือง คือท้องที่อำเภอนาคู อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

วัฒนธรรม-ความงามของชนชาวผู้ไท

การเคลื่อนตัวของกลุ่มชนต่างๆ ในดินแดนต่างๆ รวมทั้งชาวผู้ไท จากแค้วนสิบสองจุไท เข้ามาในราชอาณาจักรล้านช้าง และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราชอาณาจักรสยาม มิได้หมายความว่ามาตัวเปล่า โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้ภาษาในตระกูลไท-กะได (Tai-Kadai) เขามาด้วยศิลป-วัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งหมายรวมว่า มาด้วยจิตวิญญาณ มาด้วย “วัฒนธรรมพุทธ-ผีและการเฮ็ดนา” อันเป็นวัฒนธรรมของชนเผ่าไทที่มีความเข้มแข็งเพราะสืบสานกันมาอย่างยาวนาน และยังสืบทอดให้ปรากฏเป็นหลักฐานทางชีวิตและวัฒนธรรม ในชุมชนชาวผู้ไท





(1) ลักษณะอุปนิสัยและการแต่งกาย

อุปนิสัย
จากงานเอกสารของนักวิชาการในท้องถิ่น และจากที่คณะผู้วิจัยได้สัมผัสในพื้นที่ ชาวผู้ไท มักมีลักษณะนิสัย ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นคณะ นิยมมีสามีและภรรยาเดียว ดังจะเห็นจากวัฒนธรรม “พ่อล่ามแม่ล่าม” อันเป็นวัฒนธรรมเด่นของชาวผู้ไทกาฬสินธุ์ รักความเป็นธรรม กล้าหาญ ไม่ชอบการกดขี่ข่มเหง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูรู้คุณ ชอบทำบุญทำทาน ขยันขันแข็งในการทำงาน ภายในหมู่บ้านมีการช่วยเหลือกัน ทำงานในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี เชื่อฟังคำตักเตือนสั่งสอนของหัวหน้าหมู่บ้าน

การแต่งกาย
ปัจจุบันนี้ชาวชาวผู้ไท มีการแต่งกายเหมือนชาวไทยโดยทั่วๆไป แต่จากหลักฐานและงานศึกษาทั่วไป พบว่าการแต่งกายของชาวผู้ไทสมัยก่อนนั้น เนื่องจากชาวผู้ไทที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะแถบกาฬสินธุ์และนครพนม เป็นพวกผู้ไทดำ ในเวลาปกติผู้ชายนุ่งผ้าเมล็ดงาตาสีดำ สวมเสื้อผ้าพื้นเมืองสีดำเกล้าผมมวย ผู้หญิงนุ่งซิ่น และสวมเสื้อตัดด้วยผ้าพื้นเมืองสีดำแทนที่จะสวมเสื้อก็ถอดเอามาสะพายแล่ง เฉียงบ่าโดยใช้แขนเสื้อผูกเข้าหากันใช้แทนผ้าห่มใส่กำไลมือเงิน กับต่างหู ทำด้วยเงินหรือทองเหลืองเป็นประจำ ผมจะเกล้ามวยอย่างสวยงาม สำหรับคนที่มีฐานะดี ทั้งหญิงและชายจะมีผ้าเก็บดอกพื้นเล็กๆผูกคล้องรัดผมไว้ไม่ให้รุงรังการเกล้าผมจะมี 3แบบ คือ คนแก่จะเกล้ากลางศรีษะ สาวโสดจะเกล้าผมไว้ทางท้ายทอยส่วนแม่หม้ายเกล้าผมเอียงมาทางข้างศรีษะ
ในเวลานักขัตฤกษ์ ผู้ชายจะนุ่งผ้าไหมสวมเสื้อชั้นในห่มผ้าเก็บดอก ผู้หญิงนุ่งซิ่นหมี่ไหมสวมเสื้อผ้าแขนยาวตัดรัดรูปผ่า ติดกระดุมถ้วยเป็นแถวยาวประมาณ 30-40 เม็ด บางคนก็ใช้สตางค์ห้าหรือสตางค์สิบร้อยซ้อนกับกระดุมทุกเม็ดเครื่องประดับกายมีลูกปัดแก้วรอยเป็นสายใช้คล้องคอใส่ข้อมือและพันผมใช้ทั้งหญิงและชายบางครั้งพวกผู้หญิงยังเอาเงินเหรียญสลึงสองสลึงเหรียญเฟื่องและเง็นต่างประเทศมาเจาะรูร้อยเป็นแถวคล้องคออีกด้วยถ้าเป็นการทำบุญต่างหมู่บ้านผู้หญิงจะมีกระหยังใส่เครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งตัวไปด้วยทุกคนแต่เวลารับรับศีลจะถอดเครื่องประดับออกกองไว้หมดเมื่อรับศีลเสร็จแล้วจะแต่งใหม่ตามเดิม

(2) ลักษณะภาษาดั้งเดิมของชาวผู้ไท
ชาวผู้ไทมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน โดยลักษณะคำพูดเป็นคำไทโดดที่คลับคล้ายภาษาไทยในภาคกลาง แต่มีสำเนียงและบางคำที่แผกต่างกันอยู่บ้างแต่ถือว่ามีรากคำเดียวกัน และสามารถสื่อสารกันได้ในระหว่างชาวผู้ไท กับชาวลาว ญ้อ หรือกลุ่มคนไท กลุ่มอื่นๆทั้งที่อยู่ในประเทศไทย หรือคนไท นอกประเทศไทย ได้
ลักษณะการพูดอักษรผิดกับภาษาไทยและภาษาอีสานกลุ่มอื่นในปัจจุบันไปบ้างมีข้อสังเกตโดยย่อดังนี้
อักษร ข ห และ ฮ บางคำใช้สลับแทนที่กันบ้าง เช่น
คน ออกเสียงเป็น ฮน
ขา ออกเสียงเป็น หา
ผ้าห่ม ออกเสียงเป็น ผ้าฮม
ขาด ออกเสียงเป็น ฮาด
ขึ้นเรือน ออกเสียงเป็น ฮึ้นเฮิน
ให้ ออกเสียงเป็น เฮ้อ, เห้อ

สระไอไม้มลายออกเสียงไอตามปกติแต่สระไอไม้ม้วนออกเสียงเป็นเออ เช่น
ผู้ใหญ่ ออกเสียงเป็น ผู้เหย่อ
เอาใส่ ออกเสียงเป็น เอำเชอ

คำที่ใช้ ก สะกดออกเสียงสั้น เช่น
ลูกใคร ออกเสียงเป็น ลุเพอ
ข้าวปลูก ออกเสียงเป็น เค้าปุ
ตากแห ออกเสียงเป็น ตะแห

สระเอีย ออกเสียงเป็น เอ เช่น
เมียใคร ออกเสียงเป็น เมเพอ
โรงเรียน ออกเสียงเป็น โลงเลน

สระเอือ ออกเสียงเป็น เออ เช่น
เฮือ ออกเสียงเป็น เฮอ
เสือ ออกเสียงเป็น เสอ
เกลือ ออกเสียงเป็น เก๋อ

สระอัว ออกเสียงเป็น โอ เช่น
ผัวเมีย ออกเสียงเป็น โผเม
วัวหลายตัว ออกเสียงเป็น โงหลายโต๋ เป็นต้น

ตัวอย่างการภาษาผู้ไท
เจ้าสิไปสิเลอ หมายถึง คุณจะไปไหน
เจ้ามาแต่สิเลอ หมายถึง คุณมาแต่ไหน
ฮนฮ้าฮนฮ้าฮนฮ้าฮน หมายถึง คน ห้าคน ฆ่าคน ห้าคน

(3) ประเพณี-พิธีกรรมของชาวผู้ไทเรณู
ชาวผู้ไท มีประเพณีพิธีกรรมต่างๆที่ได้ปฏิบัติสือทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพชนและได้สั่งสมมา และถือว่ามีอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัวมิเพียงแต่เรื่องภาษา หรือหน้าตาเท่านั้น ที่พอจะเป็นเครื่องชี้ชัดหรือเกณฑ์บ่งว่าเป็นชาวผู้ไทหรือไม่

การแต่งงาน
ก่อนแต่งงาน ส่วนมากหนุ่มสาวจะต้องชอบพอและรู้จักกันมาก่อน เพราะประเพณีผู้ไท พ่อแม่ของฝ่ายหญิง จะเปิดโอกาสให้ชายหนุ่มหญิงสาวได้คุยกันอย่างเสรี หนุ่มสาวจะมีโอกาสพบในโอกาสต่างๆ เช่น ในงานประเพณีต่างๆ นอกจากนี้หนุ่มๆยังไปคุยกับหญิงสาวที่ตนพึงพอใจได้ที่บ้านของหญิงสาวตั้งแต่หัวค่ำจนดึก เช่นเดียวกับประเณีของชุมชนในภาคอีสานเกือบทั่วๆไป โดยฝ่ายหญิงจะนั่งปั่นดีดฝ้ายอิ้วฝ้าย (หีบฝ้าย)หรือทำงานเล็กๆน้อยๆอยู่บนบ้านเรียกว่า “อยู่ค่ำ” ถ้าหญิงสาวนั้นลงมาทำงานอยู่ใกล้ๆบ้าน เช่น ตำข้าวหรือชุมนุมการก่อกองไฟ หรือจุดตะเกียงทำงานอยู่ลานบ้านเรียกว่าการ “ลงข่วง” ในเวลานี้หนุ่มๆก็จะพากันไปแอ่วสาว (เกี้ยวสาว) บางทีก็มาเป็นกลุ่มและแยกย้ายไปตามบ้านสาวที่ตนหมายปอง โดยบางคนจะเป่าแคนด้วยเป็นสัญลักษณ์ให้สาวอยู่คอยหนุ่มๆ ทำนองว่าอ้ายมาแล้ว
พอถึงบันไดบ้านสาว ผู้บ่าวจะหยุดเป่าแคนทันที แล้วจึงขึ้นไปบนบันไดบ้าน ในสมัยโบราณก่อนหนุ่มจะขึ้นบ้านไปคุยสาวได้ พอไปถึงบ้านหญิงสาวต้องเรียกให้สาวหย่อนบรรไดลงมาให้การคุยกันในสมัยก่อน มักจะคุยด้วยผญา ถ้าหากพ่อแม่ฝ่ายหญิงยังไม่เข้านอนก็จะพากันหลีกเข้าไปในบ้านเสีย ปล่อยให้หนุ่มสาวได้คุยกันอย่างเสรี โดยที่หนุ่มๆจะล่วงเกินหญิงสาวไม่ได้ถ้าเกิดไปล่วงเกินเข้าจะ “ ผิดผี” ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องขัดเกลาทางสังคมชาวผู้ไทหรือชาวอีสานอย่างหนึ่ง ต้องเสียผีโดยอาจตกลงยินยอมแต่งงานด้วยหรือหาเครื่องเซ่น มีหัวหมูหรือเป็ดหรือไก่ พร้อมด้วยอุ 1 ไหและเงิน 12 บาทไปเซ่นผีเรือนฝ่ายหญิงเป็นการถ่ายโทษ เมื่อหนุ่มสาวตกลงชอบพอใจกันแล้วต่อไปฝ่ายต้องไปสู่ขอ โดยจัดขันหมาก พลู อุ 1 ไหและเงิน 3 บาท ให้พ่อล่าม (เฒ่าแก่หรือคนที่คนในชุมชนเคารพนับถือที่ถือว่าจะเป็นตัวแบบที่ดีในการครองคู่) นำไปมอบให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง เมื่อรับของไว้แล้วหมากพลูก็จะแจกกินทันทีส่วนอุจะต้องแจกดื่มก่อน การตกลงค่าสินสอดและค่าใช้จ่ายในพิธีต่อจากนั้นพิธีการอีกหลายขั้นตอนจนถึงฤกษ์ที่ตกลงกันไว้ก็ทำพิธีแต่งงาน โดยพ่อล่ามเป็นคนทำพิธีโดยกล่าวสั่งสอนและอวยพรบ่าวสาวเป็นภาษาพื้นเมืองยืดยาวจึงผูกแขนให้คู่บ่าวสาว จากนั้นก็จะนำของไหว้ซึ่งอาจเป็นหมอน ที่นอนผ้าห่มหรือผ้าขาวม้าผูกติดกับใบดอกรักและเทียนขอขมาพ่อล่ามและญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจนครบทุกคนเสร็จพิธี หลังจากพิธีแต่งงานแล้วชาวผู้ไทยยังมีพิธีไหว้ผีและพิธีอื่นๆอีกหลายขั้นตอนจนมีลูกครบ 4 คนจึงเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงานของชาวผู้ไทย

การเลี้ยงผีตาแฮก
ประเพณีการเลี้ยงผี นับว่าเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งที่อาจเป็นเครื่องบ่งชี้เบื้องต้นได้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มตระกูลเผ่าไท หรือไม่ สำหรับการเลี้ยงผีตาแฮกของชาวผู้ไทนั้นเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนา เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้ผีนาหรือแม่โพสพช่วยดูแลให้ต้นข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ ได้ผลผลิตเต็มที่
ประเพณีเลี้ยงผีตาแฮกนี้นั้นถือว่า เป็นวิถีชีวิตของชุมชนชนบทอีสานหรือกลุ่มคนตระกูลไท ทั่วไป ซึ่งเรียกรวมหรือจัดอยู่ในวัฒนธรรมที่เรียกว่า “วัฒนธรรมข้าว” ที่ยังมีความชัดเจนอยู่ในพื้นที่ชนบทภาคอีสาน นอกจากนี้แล้วประเพณีการเลี้ยงผีตาแฮกนี้ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรอบชีวิตชาวอีสานที่เรียกว่า “ฮีต 12 –คอง14”
พิธีกรรมการเลี้ยงผีตาแฮกจะเริ่มขึ้นเมื่อถึงฤดูฝนก่อนที่จะไถและคราด โดยจะปลูกศาลเล็กๆขึ้นตามคันนาเพื่อใช้เป็นสถานที่ทำพิธีบูชาผีนาหรือผีเจ้าที่เจ้าทางที่เรียกว่า “ ผีตาแฮก” ในพิธีบูชานั้นจัดทำง่ายๆโดยมีอาหารที่ใช้เซ่นไหว้ มีหมาก ยาสูบ ไข่ไก่ 1 ฟอง และอุ 1 ไหเพื่อบอกกล่าวให้รับรู้ว่าถึงเวลาทำนาแล้วให้ทำนาอย่างราบรื่น ไม่มีอุปสรรคใดๆให้ได้ข้าวงาม การเซ่นไหว้จะกระทำในวันพุธในฤดูทำนา เมื่อเซ่นไหว้บอกกล่าวเรียบร้อยแล้วลงมือทำนาพอเป็นเคล็ดโดยปลูกข้าวไว้ 7 ต้น บริเวณตาแฮก จากนั้นก็ทำนาไปตามปกติ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะเก็บเกี่ยวข้าวจากที่ปลูกไว้ที่ศาลตาแฮก จำนวน 7 ต้นนั้นก่อน
เมื่อทำนาเสร็จแล้วก็จะมีการทำ “พิธีสู่ขวัญข้าว” “สู่ขวัญควาย” เพื่อเป็นการขอบคุณที่มีส่วนช่วยให้การทำนาเสร็จลุล่วงไปด้วยดี ผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านก็จะเดินไปอวยพรตามบ้านต่างๆเป็นอันเสร็จพิธีการทำนา



ฮีต 12 กับชาวผู้ไท

เมื่อกล่าวถึงชุมชนหมู่บ้านอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบอีสานตอนบน นครพนม สกลนคร มุกดาหาร อุดรธานี กาฬสินธุ์ ไม่ว่าจะกล่าวถึงมิติใดๆ ทั้งทางเศรษฐกิจหรือสังคม สิ่งที่ละเลยมิได้ คือ ฮีต 12 คอง 14 สิ่งนี้คือรากฐานของชุมชนหมู่บ้านอีสาน เปรียบเสมือนต้นตอ ต้นกำเนิด ของความเป็นชาวอีสาน หรือ “วัฒนธรรมลาวสองฝั่งโขง” ที่เป็นตัวบ่มเพาะวิธีคิดและวิถีชีวิตของชาวอีสานจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคหลังการเข้ามามีอิทธิพลของล้านช้างในแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง นับแต่สมัยพระเจ้า ไชยเชษฐาธิราชลงมา (พ.ศ.2103) ที่ย้ายเมืองหลวงของล้านช้าง สู่เวียงจันทน์ โดยที่ “ฮีต 12 คอง 14” ผู้วิจัยเห็นว่า เป็นกระแสแห่งวัฒนธรรมหลักของกลุ่มชน 2 ฝั่งโขง ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าใดๆ ในร่วม 100 –200 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะชนชาติไท 2 ฟากโขง รวมทั้งชาวผู้ไทด้วย ล้วนถูกหล่อหลอมมาจากวัฒนธรรมในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ธำรงค์ กรอบทางวํมนธรรมดังกล่าว
ฮีต 12 หมายถึง จารีต หรือ ประเพณี 12 ประกอบด้วย (ขออนุญาตนำมากล่าวอีกครั้ง แม้นจะมีปราชญ์และนักวิชาการฝ่ายอีสานกล่าวไว้มากแล้ว)
1.ฮีต ที่ 1 เดือนอ้าย (ธันวาคม) ทำบุญ เข้ากรรม
2. ฮีต ที่ 2 เดือนยี่ (มกราคม) ทำบุญ คูณลาน
3. ฮีต ที่ 3 เดือนสาม (กุมภาพันธ์ ) ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา
4. ฮีต ที่ 4 เดือนสี่ (มีนาคม) ทำบุญผเวส
5. ฮีต ที่ 5 เดือนห้า (เมษายน) ทำบุญสงกรานต์
6. ฮีต ที่ 6 เดือนหก (พฤษภาคม) ทำบุญวิสาขบูชาและบุญบั้งไฟ
7. ฮีต ที่ 7 เดือนเจ็ด (มิถุนายน) ทำบุญชำฮะ
8. ฮีต ที่ 8 เดือนแปด (กรกฎาคม) ทำบุญเข้าพรรษา
9. ฮีต ที่ 9 เดือนเก้า (สิงหาคม) ทำบุญข้าวประดับดิน
10. ฮีต ที่ 10 เดือนสิบ (กันยายน) ทำบุญข้าวสาก
11. ฮีต ที่ 11 เดือนสิบเอ็ด (ตุลาคม) ทำบุญออกพรรษา
12. ฮีต ที่ 12 เดือนสิบสอง (พฤศจิกายน) ทำบุญกฐิน

ฮีต 12 เหล่านี้ แม้นว่าบางอย่างอาจเริ่มสูญหายไปบ้างแล้ว แต่ก็มิได้หมายความว่าคนในสังคมอีสานจะทอดทิ้งไปเสียหมด เพราะยังถูกรื้อฟื้นกันขึ้นมาใหม่ และผสมผสานกับแนวคิดทุนนิยมในลักษณะส่งเสริมการท่องเที่ยว หรืออวดหน้าตาคนในสังคมนั้นๆ กระนั้นก็ยังเหลือรากประเพณีเก่าๆเอาไว้อยู่ หรือมีการแยกให้เห็นระหว่างประเพณีแบบดั้งเดิม และประเพณีแบบใหม่ เช่น ในจังหวัดนครพนม ประเพณีไหลเรือไฟ ยังพยายามที่จะทำให้มีทั้งสองเรือไฟ ที่เป็นทั้งแบบโบราณและแบบประยุกต์ร่วมสมัย งานแห่ปราสาทผึ้งของคุ้มวัดต่างๆ ในสกลนคร งานบุญบั้งไฟที่มีประปรายในชุมชนสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ซึ่งในบางชุมชนก็อาจพบว่าทำทั้ง 12 บุญ บางชุมชน ไม่ครบ แต่อย่างน้อยบุญหลักๆ เช่น บุญเข้าพรรษา ออกพรรษา บุญคูณลาน บุญวิสาขบูชา บุญข้าวประดับดิน บุญมาฆบูชา บุญอาสาฬหบูชา บุญสงกรานต์ บุญกฐิน มิได้ขาด แม้นในชุมชนแห่งนั้นจะเป็นชุมชนที่เคยผ่านการต่อสู้อย่างชุมชนนาบัว นครพนม ก็ตาม


เอกสารอ้างอิง
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.(2541). คุณค่าและทิศทางของไทศึกษา. เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชา
การเรื่องประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไท วันที่14 – 15 มกราคม 2542.กรุงเทพฯ: หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
.14 มกราคม 2542, ประธานโครงการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไท.
[บรรยาย].จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.กรุงเทพฯ.
จิตร ภูมิศักดิ์.(2540).ความเป็นมาของคำสยามไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ.พิมพ์ครั้งที่ 4.บริษัทเคล็ดไทย จำกัด.กรุงเทพฯ.
สุรจิตต์ จันทรสาขา.(2543).เมืองมุกดาหาร.พิมพ์ครั้งที่ 1.สภาวัฒนธรรมจังหวัดมุ


ได้จาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=125561

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

คำว่า สีบสองจุไทมาจากแค้วนสีบสองจุไทสะไหมนั้นบ่อมีผู้ปกคองอันชักชิดจื่งเรัดให้คนผู้ไทอยู่กันกะแจกกะจายเอี้นตวเองว่าไทนี้ไทนั้นเชั่นว่าคนไทที่อยู่เมืองไลมักเอี้นตวเองว่าไทไล,อยู่เมืองแถง(แถน)มักเอี้นตวเองว่าไทแถง,อยู่เมืองม้วยมักตวเองว่าไทม้วยฯลฯจนฮอดสีบสองกุ่มไทแล้วมาฮวมเข้ากันมีผู้ปกคองจื่งเอี้นว่าแค้วนสีบสองจุไท แต่คนผู้ไทเดีมที่ยังอาไสอยูแค้วนสีบสองจุไทมักเอีันตวเองว่า ไต